Scoop: อัพเดตการป้องกัน Scam ก่อนลงทุนในคริปโต ฉบับปี 2023


Scam หรือการหลอกลวงที่เกิดขึ้นกับโลกคริปโตที่ผ่านมาถือว่ามีผู้เสียหายที่เกิดขึ้นมากมายไม่แพ้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลย ยิ่งในตอนนี้เงินทุนเริ่มไหลกลับเข้ามายังสินทรัพย์เสี่ยง ราคาของ Bitcoin มูลค่ากลับมายืนอยู่ที่ระดับ 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ/BTC จากที่หลุด 2X,XXX ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว สัญญาณที่บ่งบอกว่าตลาด Digital Asset จะกลับมาคึกคักครั้งนี้ แน่นอนว่าก็ได้เรียกเหล่า Scammer หรือผู้ไม่หวังดีให้กลับมาลงสนามเช่นกัน อีกทั้งยังมีรูปแบบการ Scam ที่มีพัฒนาการมากกว่าเดิมอีกด้วย ฉะนั้นสำหรับใครที่วางแผนจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงชนิดนี้ ก็จำเป็นต้องศึกษาวิธีป้องกันจากความเสี่ยงของ Scam ไปพร้อมกับข้อมูลของสินทรัพย์ไปพร้อมๆกัน เพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่นและป้องกันเงินทุนเอาไว้ให้มากที่สุด

 
1.ตรวจสอบ URL Link ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง

 
ในการทำธุรกรรมทั้งการ  Swab  หรือแลกเปลี่ยนมูลค่าของ       เหรีญคริปโต การ Staking ฝากออมเหรียญเพื่อรับดอกเบี้ย หรือการเคลมเหรียญที่ได้จาก Airdrop ของ Protocol โปรเจคต่างๆ สิ่งสำคัญก็คือต้องตรวจสอบที่อยู่ของเว็บไซต์ หรือ URL Link ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการเข้าเว็บไซต์ปลอมที่เสี่ยงต่อการโดนไวรัส หรือเผลอกดตกลง Sign Contract เชื่อมต่อกับกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ของเราอันเป็นเหตุให้ถูกโดนขโมยเหรียญทั้งหมดที่เรามีอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้ว โปรเจคของ Digital Asset ต่างๆมักจะมีบัญชี Account ที่เอาไว้สื่อสารกับนักลงทุนบนสื่อโซเชียล    Twitter    ซึ่งตอนนี้มีการระบาดอย่างการแอบอ้างเป็นโปรเจคนั้นๆ แล้วโพส URL Link หรือส่งมาผ่านทางข้อความส่วนตัว อย่างเช่นตัวอย่างด้านบนที่เป็นโปรเจคชื่อ Arbitrum ได้แจก Airdrop เหรียญของโปรเจคที่ชื่อ   $ARB   ให้กับผู้ที่เคยมาเทสระบบก่อนหน้านี้ ก็ได้มีผู้ไม่หวังดีทำบัญชีปลอม ซึ่งหากสังเกตผิวเผินจะไม่รู้เลยว่า @ นั้นสะกดต่างกัน ใครที่ไม่ทันระวังตัว ไม่ได้เช็คบัญชีกับ URL Link ก็อาจทำให้การเคลมเหรียญที่ควรจะได้เงินกลับมานั้นกลับกลายเป็นการเสียเหรียญทั้งหมดที่อยู่ในกระเป๋าได้ เพราะเว็บไซต์ปลอมนั้นบางทีเลียนแบบหน้าต่างเว็บของ Protocol จริงแทบทุกระเบียดนิ้ว ฉะนั้นควรมีการเช็ค URL ให้รอบคอบก่อนทุกครั้ง ติดตามบัญชีหลัก ไม่พิมพ์หาบน Google และระวังตัวมากขึ้นหากเป็นอีเว้นต์หลักของ Protocol ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทันระวังตัวเหมือนกับเคสนี้

2.ระวังการโต้ตอบใน Direct Message 

 
ช่องทาง Direct Messege หรือการส่งข้อความส่วนตัวนั้นมีรูปแบบการหลอกลวงคล้ายๆกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เป็นการพูดคุยยังโซเชียลมีเดีย ซึ่งในโลกคริปโต ช่องทางการสื่อสารมักจะเป็น DM ของ Twitter และแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Discord ที่จะมีการจัดตั้ง Community เฉพาะแต่ละโปรเจคเอาไว้สื่อสารกับนักลงทุนโดยตรง ซึ่งสามารถส่งข้อความเฉพาะบุคคลได้ เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ผู้ไม่หวังดีมักนิยมทักส่วนตัวมาในหลายๆบทบาท เช่น แอบอ้างว่าเป็นคนรู้จัก ทักมาสร้างความสัมพันธ์แบบคนรักเพื่อหวังประโยชน์ หรือกล่าวอ้างว่าเราเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล โดยจะมีการหลอกให้เรากดลิงค์ ส่ง Sign Contract มาให้ หรือการขอ Address และ Password กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ของเรา ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือเลือกตอบเฉพาะคนที่ตัวเองรู้จัก และบล็อคบัญชีน่าสงสัยเหล่านั้นเพื่อไม่ให้พวกเขาสามารถส่งข้อความมาหาเราได้อีก

3. ลงทุนซื้อ Hardware Wallet เพื่อเก็บเหรียญคริปโตเอาไว้แบบออฟไลน์
 
 

 
การลงทุนบนคริปโต หากเรายังไม่ได้มี Hardware Wallet ก็เท่ากับว่าเรานั้นเก็บทรัพย์สินตัวเองเอาไว้กับกระเป๋าของผู้ให้บริการที่เป็นกระดานเทรดซื้อขาย หรือเก็บไว้บนกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ชนิดที่เป็น Hot Wallet (เช่น MetaMask) ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนขโมยหากเผลอทำอย่าง 2 ข้อบนข้างต้น หรือความเสี่ยงของผู้ให้บริการที่เราฝากเหรียญไว้กับคนอื่น การซื้อ Hardware Wallet ที่จัดว่าเป็น Cold Wallet กระเป๋าที่ไม่ได้มีการเชื่อมต่อบนอินเตอร์เน็ตมาเชื่อมเข้ากับ Hot Wallet ที่มีในการทำธุรกรรมใดๆก็ตาม ระบบจะส่งคำขอมาให้เรายืนยันบนอุปกรณ์ Hardware Wallet จึงเป็นการรับประกันว่าทุกการซื้อขายล้วนแต่เราเป็นผู้ทำธุรกรรมทั้งสิ้น สามารถป้องกันการแฮกกระเป๋าหรือไวรัสจากเว็บไซต์แปลกๆได้โดยปริยาย

4.ระวังการลงทุนในโปรเจคปลอม

ในช่วงปี 2021 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของโปรเจค NFT ที่ได้แรงกระเพื่อมมาจากการกระแสของโลก Metaverse มีโปรเจค NFT ที่เคลมว่ามี Roadmap เกี่ยวกับโลกแห่งอนาคตมากมาย ราคาของ NFT ในตลาดถูกปั่นสูงขึ้น Volume ในตลาดล้นทะลักเนื่องจากคนเข้ามาเก็งกำไรกัน แต่แล้วในที่สุดเมื่อกระแสดับลงไปประกอบกับปัญหาทางด้านสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้คนแห่ถอนเงินออกจากทรัพย์สินเสี่ยงแล้วกอดเงินสดไว้กับตัว ราคาของ NFT ทั้งตลาด ตกต่ำกว่า 90% บางโปรเจคไม่สามารถขายต่อได้ เป็นทุนจมที่ทรัพย์สินที่ครอบครองกลับกลายเป็นไม่มีค่าเลย มีแต่โปรเจคจริงที่ยังสามารถไปต่อได้ จึงสำคัญอย่างมากที่ควรศึกษาสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้ก่อนการลงทุน ทั้ง    NFT    และเหรียญคริปโตสกุลต่างๆให้ดีก่อน โดยอาจดูจากแผนการดำเนินงาน และตรวจสอบดูว่าที่ผ่านมาโปรเจคเหล่านั้นได้ทำตามแผนที่ประกาศไว้หรือไม่ มีการ Audit จากบริษัทที่เชื่อถือได้หรือไม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ถ้าหากพลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อ ในโลกที่เป็น Decentralized ทุกอย่างเป็นแบบกระจายศูนย์ ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ทรัพย์สินกลับมา เพราะไม่ได้มีสถาบัน เช่นศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย หรือภาคธนาคารเป็นศูนย์กลางการให้บริการ เหมือนกับการหลอกลวงแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ยังมีโอกาสในการตามตัวผู้หลอกลวงเจอได้ ฉะนั้นเมื่อวางแผนจะมาลงทุนในเหรียญคริปโตนี้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจทั้งความเสี่ยงของความผันผวนและศึกษาความเสี่ยงของเรื่อง Scam เอาไว้ให้ดีก่อน โดยเฉพาะเหตุจูงใจหลักๆที่เข้ามาเล่นกับจิตใจของคนผ่านความโลภ ตัวการที่ทำให้เราสามารถตกหลุมพรางของผู้ไม่หวังดีเหล่านี้ได้โดยง่าย

 

 


LastUpdate 26/03/2566 23:34:07 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 12:13 pm