เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 5.0-5.25%ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 16 ปี และนับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 10 หลังจากเฟดได้ออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่ในครั้งนี้ คำแถลงของเฟด ได้ส่งสัญญาณที่แตกต่างออกไปจากครั้งไหนๆ โดยได้มีการพูดถึงการพิจารณาที่อาจจะหยุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอันแสนยาวนานนี้แล้ว
การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในครั้งนี้ทางเฟดได้ให้ข้อมูลถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจว่า ในส่วนของอัตราการจ้างงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งอย่างมาก อัตราการว่างงานก็อยู่ในระดับต่ำ ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีการขยายตัวขึ้นอีกด้วย อีกทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(CPI)ที่แสดงถึงสภาวะเงินเฟ้อในรอบเดือน มี.ค.ล่าสุดก็อยู่ที่ 5.0% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ และมีทิศทางที่ลดลงมาจากครั้งก่อนๆ ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยในระดับคงที่ๆ 0.25% จึงเป็นอัตราเดียวกับที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ แต่ที่ยังมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้อยู่นั้น เป็นเพราะเฟดยังคงมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาสู่ระดับที่ 2% ให้ได้ (เป็นเป้าหมายหลักที่ทำให้เฟดได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาถึง 10 ครั้ง) ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังคงค้างอยู่ที่ 5% อยู่
แต่ถึงอย่างนั้น จากทิศทางที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการพัฒนาที่ดีขึ้นดังกล่าว และทิศทางของเงินเฟ้อก็มีการลดระดับต่ำลงมาเรื่อยๆ ทางด้านเจอโรม พาวเวล ประธานของเฟด จึงได้มีการแถลงข่าวหลังการประกาศมติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมา (การขึ้นอัตราดอกเบี้ย) ว่าส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร เป็นการจับตาดูว่า “ยังจำเป็นหรือไม่” ที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐต่อ ซึ่งถ้อยแถลงนี้ถือว่าเป็นใจความที่แตกต่างจากการแถลงในครั้งก่อนๆที่ยังมีโทนเอนเอียงไปว่า จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อๆไปเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด เช่น การขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาในรอบวันที่ 23 มี.ค.เฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอก เบี้ยที่ระดับ 0.25% และส่งสัญญาณว่าจะยังให้น้ำหนักกับการควบคุมเงินเฟ้ออย่างจริงจัง รวมถึงบอกว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เพราะเฟดมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาคธนาคาร จากเหตุการณ์ที่ Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐล่มสลาย และ Credit Suisse ธนาคารเก่าแก่เกือบ 200 ปีที่เผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องไปตามๆกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
แต่ในครั้งนี้การแถลงของเฟดมีการส่งสัญญาณว่าอาจจะหยุดเทศกาลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ซึ่งถ้าหากเฟดมีการหยุดนโยบายนี้จริงๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ บริษัทต่างๆในสหรัฐ รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆทั่วโลก มีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะดีขึ้น เพราะจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ผ่านมา ได้ฝังรากให้กับหลายๆ บริษัทต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนหนักอึ้ง (บางบริษัทแบกรับไม่ไหว และไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ ก็ต้องล้มหายไปเหมือนที่เกิดขึ้นกับ SVB) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก็ส่งผลเป็นโดมิโนให้ในหลายๆประเทศต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากกระทบกับค่าสกุลเงินและเรื่องของ Fund Flow ในภาคการลงทุน
ส่วนในแง่ของภาคเศรษฐกิจ เมื่อไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นภาระให้กับภาคธุรกิจแล้ว บรรยากาศการลงทุนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐที่มีพื้นฐานดี รวมถึงหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ที่จะทำให้นักลงทุนกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น สภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นหลักที่เฟดกังวล ซึ่งเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% เฟดก็ยังให้ความสำคัญอยู่ ทำให้การแถลงครั้งนี้เป็นเพียงแค่การส่งสัญญาณเท่านั้น ไม่ใช่การคอนเฟิร์มว่าจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแล้ว อีกทั้งยังมีการล่มสลายของ เฟิร์สต์ รีพับลิก ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ จากที่หุ้นของธนาคารทยอยร่วงลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของการเกิดวิกฤติธนาคาร ตรงกับความคิดเห็นของ Ray Dalio ผู้จัดการกองทุนเฮดฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนสูงที่สุดของโลกได้มองว่าตั้งแต่ความล้มเหลวของ SVB นั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าภัยของระบบการเงินของโลกกำลังจะมาถึง จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมาต่อจากนี้ เช่น CPI รอบเม.ย.ที่จะประกาศในวันที่ 10 พ.ค.นี้จะเป็นอย่างไร ส่งผลดีหรือผลเสียต่อทิศทางการตัดสินใจของเฟด
ข่าวเด่น