Scoop: สัญญาณดัชนีเตือน เศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 10 ปี


ที่ผ่านมา ทั้งโลกรับรู้มาตลอดว่า ในปีนี้เราอาจจะได้เห็นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลุกลามไปในหลายๆประเทศ จากสัญญาณของทั้งเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่พุ่งขึ้นสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และแน่นอนว่า สหรัฐอเมริกา ประเทศผู้นำเศรษฐกิจของโลก ก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอย่างยิ่งยวดเช่นกัน โดยเห็นได้จากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งออกมาเรื่อยๆ ซึ่งแสดงผลออกมาจากดัชนี้ที่กำลังชี้วัดว่า สหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี เร็วๆนี้

โดยเรื่องที่เห็นชัดที่สุดอย่าง วิกฤติทางภาคธนาคารของสหรัฐ ที่ได้มีการล่มสลายมาจนถึงธนาคารที่ 4 แล้ว ซึ่งก็คือธนาคาร First Republic ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ได้ถูกยึดโดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น เป็น 1 ในปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ถ้ามองภาพในเดือน พ.ค.นี้อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่กระทบออกไปยังวงกว้าง เพราะผลประโยชน์จริงๆก็อาจตกลงไปอยู่กับธนาคารใหญ่ๆเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากการที่สามารถช้อนซื้อได้ในราคาต่ำ อีกทั้งจากสาเหตุการล่มของธนาคารที่แล้วมานั้น มันเกิดจากการที่ธนาคารเหล่านั้นมีลักษณะการให้บริการกับกลุ่มคนเฉพาะส่วน กล่าวคือธนาคาร SVB ให้บริการสินเชื่อที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่ม Start Up ธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ให้บริการทางด้านเหรียญคริปโต และธนาคาร First Republic ให้บริการกับกลุ่ม Wealth โดยเฉพาะ ซึ่งทั้ง 4 ธนาคารนี้มีปัญหาจากการบริหารภายในที่ผิดพลาด และมีโครงสร้างรายได้ที่กระจุกตัวทั้งนั้น แต่หากมองภาพใหญ่ ถ้าธนาคารใหญ่ๆทยอยอุ้มธนาคารที่มีปัญหาแบบนี้แล้วเกิด Default Rate ที่เพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้

มาถึงส่วนของดัชนี้ชีวัด ข้อมูลจาก Yuanta Research รายงานถึงการเกิด Inverted Yield Curve(10 -2Yr) สถิติที่เปิดเผยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุน้อยกว่า มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหรือเท่ากับพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า (นักลงทุนนิยมใช้ตัวที่มีอายุ 2 ปี เทียบกับตัวที่มีอายุ 10 ปี) ซึ่งถ้าหากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว โอกาสที่เศรษฐกิจจะเกิด Recession หรือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะตามมาโดยเฉลี่ยประมาณ 12 เดือนให้หลัง ซึ่งในตอนนี้เศรษฐกิจของสหรัฐก็ได้เกิด Inverted Yield Curve มา 9 เดือนแล้ว หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะเฉลยให้ทั้งโลกรับรู้ว่าจะเกิดสภาวะ Recession ตามความเสี่ยงที่สูงนี้จริงๆหรือไม่ในอีก 3 เดือน

รวมถึงการแสดงผลของ U.S. ISM Manufacturing Index หรือ PMI ดัชนีที่เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการในสหรัฐ ซึ่งถ้าค่ามีการปรับตัวลงแตะที่ระดับ 45 จุด จากที่ผ่านมาในทุกครั้งเศรษฐกิจล้วนเกิดสภาวะถดถอยทั้งสิ้น โดยที่ปัจจุบันนี้ค่าดัชนีลดลงมาเรื่อยๆจนอยู่ที่ 47.1 จุดแล้ว และดัชนีของ LEI (Leading Economic Index) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่มีจุดประสงค์เพื่อคาดการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งหากตัวเลขสถิตินั้นมีการติดลบ จะตามมาด้วยการเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้ง และแน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ LEI (%YoY) อยู่ที่ -7.8 เป็นที่เรียบร้อย 

จึงเป็นการการันตีได้กลายๆแล้วว่า สภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอาจมาแน่นอน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็น Soft Landing หรือ Hard Landing ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วขนาดไหน ซึ่งตอนนี้หลังจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 10 ที่ระดับ 0.25% ทาง Fed ก็ออกมาส่งสัญญาณล่วงหน้าแล้วว่าจะพิจารณาว่ายังจำเป็นหรือไม่ที่ต้องควบคุมเงินเฟ้อเอาไว้อยู่ เพราะตอนนี้ Fed กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มีชนักติดหลัง เกี่ยวกับปัญหาภาคธนาคารที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องไปตามๆกันจากผลกระทบของดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าหากหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่เงินเฟ้อยังกลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งหนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐก็อาจ Hard Landing เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงเลย ส่วนภาคธนาคารอย่างธนาคารใหญ่ๆที่เคยช้อนซื้อธนาคารเล็กๆเอาไว้ก็มีความเสี่ยงสูงในเรื่องของ NPL

โดยสรุป จากสถิติของดัชนีก็ได้แสดงผลแล้วว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยนั้นเป็นไปได้อย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ปัญหาที่จะได้เห็นนั้นจะอยู่ในรูปแบบของสภาวะความเป็นหนี้ที่สูง ซึ่งเราได้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาของ Fed แม้จะช่วยลดสภาวะเงินเฟ้อ แต่ต้องแลกมากับความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำลงของประชาชนเองและภาคธุรกิจ (อย่างเช่นวิกฤติธนาคาร SVB ที่บริษัท Start Up ไม่สามารถสร้างรายได้จนต้องหันมากู้กับ  SVB ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถอุ้มต้นทุนการกู้ยืมเอาไว้ได้) และถึงแม้ Fed จะทำการหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่ขึ้นมาจนถึงระดับ 10 ครั้งแล้วนั้น ก็ยังส่งผลเรื้อรังต่อการจับจ่ายใช้สอยมาจนถึงทุกวันนี้และในอนาคต ในตอนนี้เราจึงต้องรอดูท่าที และวางแผนพอร์ตการลงทุนของเราเตรียมเอาไว้ เพื่อรอรับการกระแทกให้เจ็บน้อยที่สุด กับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะมาถึงนี้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ค. 2566 เวลา : 20:41:00
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:20 am