Special Report : "ซาอุดิอาระเบีย" กับบทบาท "ผู้ถือดุลอำนาจใหม่ของโลก" สร้างโอกาสให้เศรษฐกิจไทย


หลังจากที่ไทยและซาอุดิอาระเบียได้กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกครั้ง ก็ทำให้ไทยได้เปิดประตูสู่โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะประเทศซาอุดิอาระเบียในตอนนี้ เรียกได้ว่าเป็น Candidate ม้ามืดที่มีศักยภาพสูงในการเข้าชิงขั้วอำนาจของโลกในยุคหน้าที่กำลังจะถึงนี้ ไม่ใช่ตัวละครหลักบนหน้าประวัติศาสตร์ก่อนหน้าอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน หรือรัสเซียที่คอยห้ำหั่นกันในเกมการเมืองอีกต่อไป เพราะล่าสุด ระหว่างที่ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ได้ตีกันไปมาอยู่นั้น ในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปีที่แล้ว ซาอุดิอาระเบียก็ได้เข้ามากอบโกยกำลังอำนาจอย่างไม่มีใครทันระวังตัว

ในช่วงปี 2022 ซาอุดิอาระเบียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก สวนทางกับทั่วโลกมีเศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เพราะได้รับอานิสงส์จากกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกที่จำกัดและราคาน้ำมันที่สูงจากความขัดแย้งดังกล่าวที่เป็นสงครามทางด้านพลังงาน ซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันอยู่แล้ว จึงได้ส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยการคว่ำบาตรน้ำมันจากทางรัสเซีย จึงสามารถทำกำไรเข้าประเทศได้ถึง 3.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียวในช่วงปีที่แล้ว โดยมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง จีน อินเดีย และญี่ปุ่นที่มี Demand เพิ่มขึ้น และทางด้าน โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย ก็ได้ใช้เงินจากการขายน้ำมันหลายพันล้านดอลลาร์นี้ ผลักดันภารกิจของประเทศที่จะทำให้ซาอุดิอาระเบียก้าวไปเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจได้รับผลกระทบจากการขาดดุลอย่างยิ่งยวด จากราคาน้ำมันที่มีราคาแพง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างนับไม่ถ้วน เช่นสภาวะเงินเฟ้อ จน Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐ ต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกระทบกับตลาดทุนทั่วโลก ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงสูงอื่นๆ มีมูลค่าลดลงอย่างมาก จากการที่นักลงทุนกระโดดหนีตายกันออกไปเพื่อกอดเงินสดเอาไว้กับตัว ซาอุดิอาระเบียที่สามารถทำเงินเข้าประเทศได้จากการค้าน้ำมัน ก็ได้เข้าชาร์จ ช้อนซื้อสินทรัพย์ที่กำลังลดราคาเหล่านั้น โดยเฉพาะในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือเป็นหลัก และยังได้ตั้งกองทุนมูลค่ากว่า 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเตรียมเข้าซื้อธนาคารในยุโรปและเอเชีย ซึ่งการเข้าซื้อสถาบันการเงิน ผลดีที่ตามมาคือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศที่จะสามารถกระจายเงินทุนไปยังทั่วโลก เพราะตอนนี้ประเทศในฝั่งตะวันออกนั้นพึ่งพาการส่งน้ำมันเป็นอันดับ 1 การกระจายการลงทุนก็เท่ากับหาช่องทางการทำเงินในด้านอื่นๆบ้างจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อประกันเรื่องของอนาคตไม่ให้ซ้ำรอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซีย 

ในปี 2022 GDP ของซาอุดิอาระเบีย มีการเติบโตถึง 8.7% จากปี 2021 ที่อยู่ระดับ 3.24% สวนทางกับประเทศอื่นๆที่มี GDP ลดต่ำลง ส่วนแม้ในปีนี้ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 มีการขยายตัวอยู่ที่ 3.9% ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และทาง IMF คาดการณ์ว่าการเติบโต GDP ของซาอุดิอาระเบียจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเหลือ 3.1% ในปีนี้ แต่ก็เป็นผลมาจากการลดลงของการขายน้ำมัน และสำนักงานสถิติซาอุดิอาระเบียก็ได้รายงานว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น กิจกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันขยายตัว 5.8% จากปีก่อนหน้า 

สอดคล้องกับทาง Krungthai COMPASS มองซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงในระยะต่อไปถัดจากนี้ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะทางด้าน ดร. ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย เป็นปัจจัยเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทั้งสองประเทศ ทั้งการส่งออกสินค้าของไทย และจำนวนนักท่องเที่ยวจากซาอุดิอาระเบีย กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังฟื้นความสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนปฏิรูปประเทศของซาอุดิอาระเบีย หรือ “Saudi Vision 2030” ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่า GDP เป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 (เทียบจากปี 2559)  ปัจจัยหลักมาจากการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Non-oil economy) มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยสร้างงานใหม่ถึง 6 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้า และการดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียมาไทย  

ซึ่ง Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ Saudi Vision 2030 จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยเพิ่มขึ้นถึง 57,018 ล้านบาท คิดเป็น 0.21% ของ GDP โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังซาอุดิอาระเบียในปี 2573 มีโอกาสสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2562 และคาดว่านักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียมีโอกาสแตะ 2 แสนคนในอีก 7 ปีข้างหน้า สร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยราว 32,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังจะช่วยหนุนการเติบโตของ GDP ตามศักยภาพในระยะยาวอีกด้วย

การที่ไทยได้กลับมาสานสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียอีกครั้ง ในเวลาเหมาะเจาะที่ซาอุดิอาระเบียกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้ถือดุลอำนาจใหม่ของโลก ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจไทยได้มีช่องทางการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นผลดีกับผู้ประกอบการคนไทย ทั้งด้านทางการค้าการส่งออก อย่าง สินค้าในกลุ่มอาหาร ที่สอดรับกับเมกะเทรนด์ด้านความมั่นคงทางอาหารของซาอุดิอาระเบีย สินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้ากลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนทางธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว Healthcare และอสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเติบโตของลูกค้าชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีจุดเด่นในด้านการจับจ่ายใช้สอยสูง และมีระยะเวลาพำนักในไทยยาวกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น และทางด้านการลงทุน ก็คาดว่า จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากซาอุดิอาระเบียได้ประมาณ 3 - 6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทย ยังมีโอกาสไปลงทุนในซาอุดิอาระเบียได้อีกด้วย จากอานิสงส์นโยบายเปิดรับนักลงทุนต่างชาติภายใต้ Saudi Vision 2030 
 

LastUpdate 11/06/2566 20:52:55 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:06 am