จากใน Ep แรก ที่ได้กล่าวไปถึงเรื่องของคาร์บอนเครดิต โซลูชั่นหนึ่งในการช่วยผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กสามารถเข้าถึงหลักแนวคิด ESG ได้นั้น หากจะอธิบายให้ละเอียดกว่านี้นั้น ตัวของคาร์บอนเครดิต คือ กลไกการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการที่เมื่อธุรกิจๆหนึ่งสามารถบริหารธุรกิจด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมาย หรือปล่อยมลภาวะน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถทำการคำนวณส่วนต่างตรงนี้ ซึ่งจะเรียกว่าคาร์บอนเครดิต ไปจำหน่ายให้กับบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม อย่างธุรกิจรายกลางและรายเล็กที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้
ซึ่งในภาคส่วนที่จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ เข้าใกล้แนวคิด ESG ให้มากขึ้นได้นั้น ก็คือส่วนของธุรกิจการเงิน หรือก็คือภาคธนาคารที่ยึดหลักแนวคิดของ ESG มายึดเป็นแกนหลักในการปฏิบัติงานด้วยเหมือนกันนั่นเอง เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้ดำเนินหลายโครงการสำคัญด้าน ESG ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์การลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เหลือศูนย์ (Net Zero) อย่างการเป็นสมาชิกตั้งต้นของเครือข่าย Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสำหรับองค์กรหรือธุรกิจใดที่มีการดำเนินกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ก็สามารถทำการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาด นับเป็นการช่วยให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกทั้ง สำหรับปีที่ผ่านมา กรุงศรีฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนผ่านดีลสำคัญๆ อาทิ ร่วมเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Bond) ให้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง สนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Loan) มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท และร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มูลค่าเสนอขายรวม 4,500 ล้านบาท และในปีนี้ ตั้งเป้าการสนับสนุนด้าน ESG Finance หรือการออกสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เช่นการออกสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีการดำเนินงานโดยที่มีส่วนสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ และสนับสนุนทางการเงินโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน 50,000-100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีก็ยังได้ยึดวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของธนาคาร โดยได้ดำเนินการหลายโครงการสำคัญ อย่างการผลักดันและส่งเสริมธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความก้าวหน้าและมีความยั่งยืนทั้งด้านผลประกอบการ ผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างระบบนิเวศ และนวัตกรรมทางการเงินที่เหมาะสม เช่นเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีได้ประกาศเปิดตัวโครงการ Krungsri ESG Awards 2023 เป็นปีแรกเพื่อส่งเสริมและยกย่องลูกค้าธุรกิจ SME ของกรุงศรี ที่ดำเนินธุรกิจโดยนำแนวคิด ESG มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนในด้านการจัดการองค์กรภายใน หรือองค์ประกอบในกระบวนการปฏิบัติงานเอง ทางธนาคารกรุงศรีเองก็ยังยึดหลัก ESG โดยการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573 และจากบริการทางการเงินทั้งหมดในปี 2593 อีกด้วย
ด้านธนาคารกสิกรไทย นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ธนาคารเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในองค์กรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ อาทิ การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ การวางแผนปรับเปลี่ยนวัสดุในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนลดลงให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรและทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมบนหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน พร้อมปักธง 4 อาคารหลัก ได้แก่ สำนักงานใหญ่พหลโยธิน อาคารราษฎร์บูรณะ อาคารแจ้งวัฒนะ และอาคาร KBTG ด้วยเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้ของเสียจากอาคารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ภายในปี 2566 ด้วยการเดินหน้าโครงการจัดการขยะ ติดตั้งถังขยะ 6 ประเภท เพื่อคัดแยกขยะ 6 ชนิด ได้แก่ เศษอาหาร วัสดุรีไซเคิล ขยะเผาเป็นพลังงาน ขยะปนเปื้อน ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกำหนดระบบการจัดการขยะของแต่ละถังอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสุดท้าย เพื่อให้เหลือของเสียไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลงและเป็นศูนย์ในที่สุด ควบคู่กับการให้ความรู้แก่พนักงานตระหนักถึงความสำคัญ มีความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านแคมเปญสำหรับพนักงานในองค์กร “ทิ้งถูกไม่ถูกทิ้ง” ด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ “เท-แยก-ทิ้ง” โดยชวนพนักงานทั้งหมดมาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการแยกขยะก่อนทิ้ง เน้นการให้ความรู้วิธีการแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง เพื่อให้ขยะไม่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า สามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ลูกค้าและประชาชนเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ไปด้วยกัน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะอย่างเป็นระบบด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในวงกว้าง ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยจัดกิจกรรมแคมเปญออนไลน์ “แยกครั้งนี้...พี่ภูมิใจ” เชิญชวนบุคคลทั่วไปให้โพสต์ภาพวิธีการแยกขยะในแบบของตัวเอง พร้อมอธิบายว่าการแยกขยะจะช่วยโลกได้อย่างไร ความเห็นที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับรางวัลเป็นถังขยะรีไซเคิลแบบกล่องกระดาษ จำนวน 300 รางวัล
หรือในด้านของธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ก็ได้นำแนวคิด ESG มายึดเป็นรากฐานในการวางกลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กร และให้ความสำคัญในการลงมือทำเรื่องนี้ อย่างการวางเป้าเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ที่เดินตามกรอบ B+ESG (Business Sustainability + ESG) อย่างการสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือก็คือยึดหลักแนวคิด ESG ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้อย่างรับผิดชอบ
โดย นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี กล่าวว่า ตลอดเวลา 3-4 ปี ที่ทีทีบีมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดี (Financial Well-being) ให้กับคนไทย โดยได้นำแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) เป็นรากฐานในการวางกลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กร และให้ความสำคัญในการลงมือทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนไปในทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของธนาคาร โดยวันนี้ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ
“ทีทีบี ถือว่าเรื่องการสร้างความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของธนาคาร ที่จะต้องให้การสนับสนุนลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า ESG อยู่แล้ว แต่สำหรับทีทีบีได้เพิ่ม B หรือ Business Sustainability ไปด้วย เพราะเชื่อว่าเรื่องของการดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทุกกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับทุก Stakeholders ของเรา เห็นได้จากสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในบทบาทการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) สิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้และเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างเห็นผล คือ การสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมผ่านโซลูชันทางการเงินที่ยั่งยืนและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางทะเล มูลค่ารวมมากกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินทุนไปสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า และปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปแล้วมากกว่า 13,000 ล้านบาท ในปี 2565 และตั้งเป้าจะปล่อยเพิ่มอีกมากกว่า 9,000 ล้านบาทภายในปี 2566 โดยปัจจุบันธนาคารเป็นผู้นำตลาดด้านการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ EV ราว 6,500 ล้านบาท
“ความยั่งยืนด้านสังคม” หรือ Social Sustainability เป็นอีกเรื่องที่ทีทีบีให้ความสำคัญ โดยมีโครงการปันบุญเป็นพื้นที่ช่วยมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลให้สามารถเข้าถึงฐานผู้บริจาคได้มากขึ้น ผ่านการรับบริจาคเงินบนโลกออนไลน์ สอดคล้องกับ Digital Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ และยังช่วยให้มูลนิธิบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างครบวงจร ทั้งด้านการรับบริจาคและงานเอกสารต่างๆ ของมูลนิธิได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของทีทีบี เพราะเป็นผลงานที่ถูกขับเคลื่อนภายใต้แกน Business และ Social ไปพร้อมๆ กัน และปัจจุบันมีมูลนิธิที่ร่วมอยู่บนปันบุญมากกว่า 270 แห่ง ระดมเงินบริจาคไปแล้วมากกว่า 400 ล้านบาท
ฉะนั้นในตอนนี้ทุกภาคส่วนต่างมีความคาดหวังให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจแบบใหม่ภายใต้แนวคิด ESG ไม่ว่าจะทั้งเริ่มจากการซื้อคาร์บอนเครดิตตามที่ได้กล่าวไปสำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นในการปรับตัว หรือแนวโน้มของการออกสินเชื่อให้กู้หากธุรกิจของเรายึดหลักแนวคิด ESG ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผู้บริโภคหรือคนที่มีบทบาทซื้อสินค้าและบริการจากเราก็ต่างคาดหวังให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังอยู่ระหว่างจัดทำ Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานกลางในการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ทำการจัดกลุ่มธุรกิจแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 1.สีเขียว ธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน (ตามการอ้างอิงตัวชี้วัดที่คาดการจากแบบจำลองของสากลว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ตาม Paris Agreement) 2.สีเหลือง ธุรกิจที่ยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ และอยู่ในระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อ้างอิงจากเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และ 3.สีแดง ธุรกิจที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดของธุรกิจสีเขียวและสีเหลือง หรือเรียกได้ว่า “เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ทำอะไรเลย”
จะเห็นได้ว่าถนนทุกสาย หรือทุกภาคส่วนต่างมุ่งเข้าแต่เรื่องของ ESG ทั้งสิ้น และความคาดหวังที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เปรียบเสมือนเป็นเพียงแค่ไม้นวมที่ใช้แรงหวดแค่เบาๆ เพื่อเตือนให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญและปรับตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเรื่องของการทำธุรกิจร่วมกับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่กระแสในระยะสั้น แต่มันจะเข้ามาเป็น New Normal ที่พร้อมจะโละกระดานธุรกิจที่ยังไม่มีส่วนของการรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้จมหายไปโดยไม่มีใครสนใจอีกเลย
ข่าวเด่น