ทองคำจัดว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะมีความต้องการสูงขึ้นในช่วงเวลาการเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบันนี้การถือครองทองคำมีสัดส่วนที่สูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในฝั่งของธนาคารกลางเองที่มีการตุนทองคำ Back Up เป็นทุนสำรองเอาไว้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเตรียมรับมือกับความเสี่ยงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้
ทางข้อมูลจากสภาทองคำโลก ระบุว่า 24% ของธนาคารกลาง หรือ Central Bank ทั่วโลก มีแผนในการซื้อทองคำสะสมไว้เพิ่มมากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้ และมีมุมมองต่อทองคำเป็นบวกมากขึ้น โดย 62% ของธนาคารกลางมองว่าทองคำจะมีสัดส่วนในปริมาณทุนสำรองมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า (ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 46%) โดยสัดส่วนทองคำในทุนสำรองจะเพิ่มขึ้นเป็น 16-25%
ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 จะเห็นว่า ธนาคารกลางนั้นซื้อทองคำเป็นทุนสำรองตุนเอาไว้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยตุนทองคำเพิ่มมากขึ้นถึง 400 ตัน ในไตรมาสดังกล่าว (คิดเป็นสัดส่วนของทองคำอยู่ที่ประมาณ 15% ของทุนสำรองโลก) เป็นการตุนทองคำเพิ่มมากขึ้นถึง 115% ซึ่งนับว่าเป็นการตุนมากที่สุดนับตั้งแต่สภาทองคำเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2543 เลยทีเดียว และไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ธนาคารกลางชาติต่างๆก็ยังมีการตุนทองคำเพิ่มมากขึ้นอีก 176% หรือ 228 ตัน จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า
ซึ่งเหตุผลที่ธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก รวมถึงกองทุนความมั่งคั่งระหว่างประเทศหันมาตุนทองคำเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากปัจจัยอย่างสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกันอยู่ สถานการณ์ตึงเครียดในรัสเซียที่ยังมีความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยธนาคารกลางจำนวนมาก กังวลว่าสหรัฐอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทุนสำรองของรัสเซียทำให้ทองคำและเงินสำรองของรัสเซียกว่า 6.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐถูกแช่แข็ง โดยข้อมูลจากการสำรวจของ Invesco Ltd. เปิดเผยว่าธนาคารกลางประมาณ 58% มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้ทองคำมีความน่าสนใจมากขึ้น และอีก 68% กำลังดึงทองคำกลับมาไว้ที่ประเทศตน เทียบกับ 50% ในปี 2563 อีกทั้งประเด็นความขัดแย้งต่างๆในด้านภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้อย่างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษหน้า เป็นปัจจัยหนุนนำให้มีแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งข้อมูลข้างต้นนั้นก็สอดคล้องกับธนาคารชาติต่างๆมีมุมมองต่อเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นลบเพิ่มมากขึ้น เพราะหากความต้องการทองคำมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะมีบทบาทลดลงผกผันกัน โดยสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50% เท่านั้น จากในไตรมาส 3 ของปีที่แล้วที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนอยู่ที่ 51% ในทุนสำรองของโลก และจากมุมมองของธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนา หรือตลาดเกิดใหม่มองว่า สัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองจะลดลง โดยจะเพิ่มการตุนทองคำเข้ามาแทนเพื่อรับมือความเสี่ยงทางด้านภูมิศาสตร์
ส่วนในประเทศไทยบ้านเรา ข้อมูลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าไทยนั้นมีการตุนทองคำเพิ่มมากขึ้นกว่า 60.22% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในปี 2022 มีการตุนทองคำเอาไว้ทั้งสิ้นถึง 244.16 ตัน ซึ่งตุนมากสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากประเทศจีน ที่มีการถือครองทองคำมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมีการตุนทองคำเพิ่มขึ้นจาก 1,694 ตัน ในปี 2556 เป็น 2,010 ตันในปี 2564 คิดเป็นทุนสำรอง 3.6% ของทุนสำรองทั้งหมด และหากเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกันอย่างอินโดนีเซีย ไทยมีการตุนทองคำในทุนสำรองมากกว่าอินโดนีเซียอยู่ 3 เท่า อีกทั้งความต้องการทองคำของไทยเพิ่มมากขึ้นปีละ 50% ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกด้วย
และข้อมูลจาก บริษัท ออสสิริส จำกัด มีมุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยจะลดลงแตะระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปี 2568 เป็นเหตุให้เงินดอลลาร์สหรัฐจะเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าในปีหน้าและทองคำจะส่งสัญญาณปรับตัวขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ CME Group ในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในสัปดาห์หน้า หรือคืนวันที่ 26 ก.ค. ที่จะถึงนี้ นักลงทุนส่วนมากเกือบ 100% มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ เฟด อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้าที่ระดับ 0.25% สู่ระดับ 5.50% ซึ่งจะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และกดดันราคาของทองคำในช่วงระยะนี้
ข่าวเด่น