ประเทศไทยถือได้ว่าเป็น 1 ใน Destination ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สะท้อนให้เห็นได้จากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือค่าที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจในประเทศนั้น ภาคการท่องเที่ยวและการบริการกินสัดส่วนของ GDP เป็นหลัก จึงเรียกได้ว่า ภาคการท่องเที่ยวนั้นมีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยในช่วง ปี 2562 ปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมีสัดส่วนคิดเป็นถึง 11% ของ GDP หรือทำเงินได้มากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวในตอนนั้นอยู่ที่ 40 ล้านคนเลยทีเดียว และนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย ก็คือนักท่องเที่ยวจีนนั่นเอง สอดคล้องกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จีนเองก็ยังเป็นตลาดการท่องเที่ยวขาออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
แต่หากไม่มีข้อยืนยันดังกล่าว เราคนไทยก็รับรู้กันดีมาตลอดว่านักท่องเที่ยวจีนนั้น มีจำนวนมากขนาดไหนในประเทศไทย ไม่ว่าเราจะเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในไทย ห้างสรรพสินค้า ตลาด หรือขนาดย่าน Local เราก็สามารถพบเจอกับคนจีน หรือได้ยินภาษาจีนกลางได้ทั่วไป ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยเราก็มีการปรับตัวให้สอดรับเข้ากับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนได้เป็นอย่างดีมาหลายปีแล้ว ทั้งการทำการตลาดจับจุดความต้องการของคนจีน การสร้างสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับคนจีน อย่างการสามารถซื้อของตามร้านค้าในไทยได้ด้วย Alipay ระบบรับชำระเงินออนไลน์สัญชาติจีน และการสามารถใช้ภาษาสื่อสารกับคนจีนได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้าง Ecosystem ที่ดีจากทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ทำให้ไทยสามารถครองใจนักท่องเที่ยวจีนได้จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ที่ทั่วโลกโดยเฉพาะจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง รวมถึงเรื่องของธุรกิจจีนสีเทาที่เกิดขึ้นในไทย ก็เป็นปัจจัยกดดันให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยน้อยลง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทย รวมถึงผู้ประกอบการในไทย อาจต้องหันมาเตรียมเปิดช่องทางโอกาสอื่นๆเพื่อรองรับความเสี่ยงของตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เกิดขึ้น เพราะในประเด็นของวิกฤตไวรัสระบาด ทั่วโลกได้เห็นกันมาแล้วว่ามันก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบกับเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร อย่างในไทยที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยว โดยมีตลาดใหญ่เป็นชาวจีน การที่รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือ Zero-COVID ที่ปิดประเทศยิงยาวมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 - ธ.ค.2565 เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงเวลานั้น มาในปี 2566 ที่ตลาดใหญ่อย่างจีนเปิดประเทศ และเริ่มเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยกันแล้ว แต่ก็มีประเด็นของธุรกิจจีนเทาเข้ามาที่ทำให้ประเทศไทยออกวีซ่าให้กับคนจีนยากขึ้น
ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไทยนั้นของปี 2566 นี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ค.ว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วทั้งสิ้น 10 ล้านคน ทำรายได้รวม 4.3 แสนล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากสุดคือ จีน อินเดีย เกาหลี เวียดนาม และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.7 ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวจีนนั้นมีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังมีการตั้งเป้าด้วยอีกว่า นักท่องเที่ยวจีนมีโอกาสที่จะเข้ามายังไทยทั้งสิ้น 5 ล้านคน แต่ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยแล้ว 1 ล้านคน หมายความว่าในอีก 7 เดือนของปีนี้ต้องทำให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยอีก 4 ล้านคน ซึ่งมีสิทธิที่จะไม่ได้ยอดตามเป้าที่วางเอาไว้ เพราะมีปัจจัยกดดันของประเด็นวีซ่านักท่องเที่ยวจีนที่ไทยมีการเปลี่ยนระบบใหม่ โดยการขอวีซ่าแบบกรุ๊ปทัวร์ จากที่ใช้เวลาขอ 3 - 5 วัน ตอนนี้ใช้เวลาถึง 15 วัน รวมไปถึงคนจีนที่มีวีซ่าแต่งงานกับคนไทยก็ยังมีการตรวจสอบจากทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)ไทยอย่างรัดกุมก่อนเข้าไทยได้ ซึ่งระเบียบที่จัดสรรใหม่นี้มีผลมาจากเรื่องของจีนเทา หรือแก๊งอาชญากรรมจีนที่เข้ามาทำธุรกิจมืดในไทย ซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงของไทยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงต้องมีการตรวจสอบด้วยการคัดกรองวีซ่าคนจีนที่เข้มงวดมากขึ้น
ระบบการออกวีซ่าให้กับคนจีนที่รัดกุมนี้ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญให้กับภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งหากยอดในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนไม่ถึง 5 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมที่คาดหมายไว้ 25 - 30 ล้านคน ก็อาจไม่ถึงเป้า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยรวมกับการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยโดยตรง ฉะนั้นในภาคการท่องเที่ยวที่ยังเป็นพระเอกของ GDP ไทยอยู่ เราอาจต้องเบนเข็มหาตลาดศักยภาพข้างเคียงแทนเพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการเอาตัวรอดเพื่อรักษาเสถียรภาพของการท่องเที่ยวไทย
ข่าวเด่น