แม้ว่าชาวจีนจะยังถือว่าเป็นพระเอกของภาคการท่องเที่ยวไทย ที่มีบทบาทสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยกดดันในเรื่องของวีซ่าจีนที่ทางการไทยเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องของทุนจีนสีเทา และความเสี่ยงของการฝากความหวังไว้กับนักท่องเที่ยวเพียงสัญชาติเดียวเป็นหลัก ทำให้การหาตลาดศักยภาพเพื่อเข้ามากระจายความเสี่ยงของภาคการท่องเที่ยวไทย จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในตอนนี้ ซี่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเหมือนกับชาวจีน และนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยขณะนี้ นั่นก็คือชาวอาหรับ
จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศที่มีมากว่า 30 ปี หลังเกิดคดีเพชรซาอุฯ ก็ได้กลับมามีความสัมพันธ์ขั้นปกติแล้ว ทั้งการยกระดับในด้านผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศจากอุปทูตให้กลับมาเป็นระดับเอกอัครราชทูตและกลไกความร่วมมือทวิภาคี เพื่อให้เกิดความร่วมมือในส่วนภาครัฐและเอกชน และทำให้ชาวอาหรับในประเทศหันมาท่องเที่ยวในไทยกันมากขึ้นอีกด้วย
นักท่องเที่ยวชาวอาหรับจากซาอุฯ จัดว่าเป็นกลุ่ม High Spending ซึ่งมีกำลังซื้อสูงมากจากการเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการทำการค้าเชื้อเพลิง ตรงตามการให้ข้อมูลของ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่กล่าวว่านักท่องเที่ยวซาอุฯ มีกำลังซื้อสูงมาก ชอบท่องเที่ยวในเมืองชายทะเล ภูเก็ต พัทยา หัวหิน และเลือกพักแบบ Pool Villa หากเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ก็เลือกที่จะพักระดับ 5 ดาว ลักษณะเป็น Executive ที่มีความหรูหราย่านสุขุมวิท ซอยนานา ประกอบกับซาอุฯ มีแผนจะพัฒนาประเทศให้เทียบเคียงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยเฉพาะเมืองดูไบ จึงหมายความว่าซาอุฯ จะเป็นประเทศมีโอกาสทำเม็ดเงินได้อีกอย่างมหาศาล และหากไทยสามารถครองใจชาวอาหรับให้เป็น Destination หลักของการท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมหาศาลเช่นกัน
ฉะนั้นการปรับตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการให้สอดรับกับชาวอาหรับจึงเป็น To Do List ที่สำคัญมาก ซึ่งสิ่งที่ไทยอาจจะต้องมีการปรับครั้งใหญ่หากต้องการจะซื้อใจนักท่องเที่ยวชาวอาหรับให้ได้คือเรื่องของหลักศาสนา เนื่องจากชาวอาหรับจัดว่าเป็นชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ทางภาคการท่องเที่ยวไทยรวมถึงผู้ประกอบการทั้งหลายจำเป็นต้องมีการยกระดับมาตรฐานให้สูงมากขึ้นเนื่องจากชาวอาหรับและชาวมุสลิมจากชาติอื่นๆ มีหลักศาสนาที่ต้องยึดถือปฏิบัติ ไม่ว่าจะอาหารการกิน หรือความบันเทิงที่จะสร้าง Tourist Experience ที่ดีกับประเทศไทยนั้นจะต้องได้มาตรฐานที่เรียกว่า ฮาลาล (Halal)
เครื่องหมายฮาลาล
ฮาลาล (Halal) หมายถึง การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใดๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม หรือก็คือสิ่งที่ศาสนานั้นอนุมัติให้ชาวมุสลิมว่าสามารถบริโภคอาหารอะไรได้ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในทุกด้านโดยรวม ซึ่งตรงตามกับความศรัทธาของชาวมุสลิมที่ว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาก อัลลอฮฺ นบีมุฮัมมัดเป็นผู้สื่อ (รอซูล) ของอัลลอฮฺ" ดังนั้นคำสอนและแบบอย่างของนบีมุฮัมมัดจึงเป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ ปฏิบัติในสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้าม (ฮารอม) ด้วยความเต็มใจและยินดี
รวมถึงในเรื่องของการละหมาด 5 ครั้งต่อวัน เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมต้องทำ ฉะนั้นในสถานที่ท่องเที่ยว และภาคการโรงแรม จำเป็นต้องมีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องละหมาด พื้นที่สำหรับการอาบน้ำละหมาดที่สะอาด การมีพื้นที่ชำระร่างกาย หรือ Facilitates ในโรงแรมที่ต้องแบ่งแยกเพศ ทั้ง Gym ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ สถานที่สำหรับสปา การมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับครอบครัว และเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารที่ปราศจากส่วนผสมจากสัตว์ต้องห้ามและแอลกอฮอลล์ที่ได้มาตรฐาน Halal รองรับกำกับเอาไว้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่อยากเพิ่มยอดขายที่เจาะกลุ่มไปยังนักท่องเที่ยวชาวอาหรับและชาวมุสลิม
ชาวอาหรับและกลุ่มประเทศ Middle East ถือว่าเป็นกลุ่มตลาดท่องเที่ยวที่มีระดับสำหรับประเทศไทย ซึ่ง 1 คนมีอัตราการใช้จ่ายต่อหัว 6,000 บาทต่อวันในไทย ถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงที่สุดในทุกกลุ่ม ฉะนั้น Halal Tourism จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยควรให้ความสำคัญ เพราะตอนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำลังจะมีการพัฒนาให้ไทยกลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศเป้าหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากทั่วโลก หากเรามีผลิตภัณฑ์และการบริการที่ไม่ขัดต่อศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐานของพวกเขา ก็เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของเราเติบโตในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงอย่างตลาดนักท่องเที่ยวชาวอาหรับได้
ข่าวเด่น