ที่อยู่อาศัยเป็น 1 ในปัจจัย 4 ความต้องการพื้นฐาน (Need) ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน เลยไม่แปลกที่อสังหาริมทรัพย์จะจัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่คนนิยมซื้อกันมาก ทั้งซื้อเพื่อการอยู่อาศัย และซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า เมื่อความต้องการที่มีมากตามหลักของอุปสงค์ - อุปทาน ก็ทำให้ราคาของทั้งบ้านและคอนโดมีราคาที่เพิ่มขึ้นสูงทุกปีโดยปริยาย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว อสังหาริมทรัพย์ในไทยทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตของราคาเพิ่มขึ้นอยู่ราว 3 - 4% ทุกๆปี และยิ่งในโซนพื้นที่ที่เป็น Hub หรือศูนย์กลางต่างๆที่มีการเข้าถึง Facilities อย่างครบครัน เช่นพื้นที่ในจังหวัดกรุงเทพฯ หรือจังหวัดเศรษฐกิจ เช่น ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา (จังหวัดที่ตั้งของโครงการ EEC) การเติบโตทางราคานั้นจะสูงมากกว่า 10-15% ต่อปีเลยทีเดียว
แต่ถึงแม้การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์จะเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึง Value ของสินทรัพย์ประเภทนี้ ว่ามนุษย์ไม่สามารถขาดได้ ทุกคนล้วนต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งเพื่อดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แต่เพราะราคาของบ้านที่แพงเอาๆตามระยะเวลาที่เดินหน้า ก็ทำให้เราต้องลงแรงทำงาน และควักเงินในกระเป๋าที่มากกว่าเดิมเพื่อจะ “ซื้อ” บ้านในฝันของเราสักหลังหนึ่งเพื่อสร้างอาณาเขตส่วนตัวของตัวเอง การ “เช่า” จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่เราจะสามารถมีที่อยู่อาศัยได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซึ่งตอนนี้ กระแสหลักในหมู่คนรุ่นใหม่ มีแนวคิดการเช่าดังกล่าว มากกว่าการโยนเงินลงเป็นทุนจมกับของใหญ่ แม้จะต้องเสียเงินทุกเดือนโดยปราศจากกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของตามกฎหมายก็ตาม
แนวคิดของคนรุ่นใหม่ข้างต้นนี้ นับว่ามีความขัดแย้งกับคนในสมัยก่อนแบบกลับหน้ากลับหลังเลยทีเดียว เพราะแนวคิดที่เราคุ้นชินและยึดถือกันมายาวนานจากคำสอนรุ่นสู่รุ่นในเรื่องของความมั่นคง หากเรียนจบและก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้รีบทำงานเก็บเงิน สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการซื้อบ้านหรือคอนโด จะเป็นสิ่งที่การันตีว่าเราได้ประสบความสำเร็จในหลักสูตรของความเป็นผู้ใหญ่ที่มีสถานะมั่นคงทางสังคม แต่กับคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้เปิดรับแนวคิดเช่นนี้เข้ามามากนัก เนื่องด้วยบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ Generation Z ลงไป โตมาในยุคที่มีความเฟื้องฟูทางเทคโนโลยี เลยจัดได้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกทั้ง 2 ใบ ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง (Physical World) ที่เอาไว้ใช้ตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกาย อย่างการกินอาหาร หรือการพักผ่อน และในโลกดิจิทัล (Digital World) ที่เอาใช้ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ อย่างการรวมกลุ่ม และการโหยหาการยอมรับด้านสังคม ซึ่งเป็นความต้องการ ซึ่งเป็น 1 ในความต้องการของทฤษฎีมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย จริงอยู่ที่มนุษย์ก็ยังมีความต้องการทางสังคม ต้องการการยอมรับจากเพื่อนที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน หรือจากในที่ทำงานซึ่งอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี ที่ทำให้คนสามารถ Connect กันมากขึ้นทั่วโลกแบบไร้พรมแดน ทำให้ความต้องการทางด้านจิตใจมีความสัมพันธ์กับ Social Network ตามไปด้วย เรามีความต้องการมากขึ้น อย่างทางด้านวัตถุนิยม สินค้าและบริการในกระแส การไปตามรอยร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร กิจกรรมสันทนาการต่างๆที่เรารับรู้ผ่านโลกดิจิทัล ซึ่งการสื่อสารที่เชื่อมถึงกันทั่วโลกนี้ทำให้ทัศนวิสัยของเรากว้างขวางมากขึ้น ได้เห็นโลก เห็นสังคม รับรู้ข้อมูลปริมาณมากกว่าสมัยก่อน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะอยู่อาศัยในทำเลใจกลางเมือง เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะมีการเชื่อมโยงกับความเป็นไปของโลกปัจจุบันตามที่ได้กล่าวไป พวกเขามีการ Connect เข้ากับเครือข่ายสังคมขนาดใหญ่นี้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นทำเลที่เป็น Hub หรือศูนย์กลางที่จะนำเสนอคุณค่าเหล่านี้ได้ มีการคมนาคมที่ดี เดินทางสะดวก จึงเป็นทำเลทองที่คนกลุ่มนี้นั้นอยากจะใช้ชีวิตอยู่ใน Area แห่งนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถ Connect กับกลุ่มก้อนของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น เลยไม่แปลกที่ อสังหาริมทรัพย์ในตัวเมืองจะมีราคาที่แพง และมีแต่จะแพงขึ้นตามวันเวลา
ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่อยู่จุดเริ่มต้นของลู่วิ่งในเส้นทางความเป็นผู้ใหญ่ จะตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดสักห้อง ก็จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ หากครอบครัวไม่ได้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะซัพพอร์ตที่อยู่อาศัยให้ลูกได้ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนของตัวเองจากรายได้ที่มาจากการทำงาน แต่ประเด็นก็คือเงินเดือนขั้นต่ำในประเทศไทยขั้นเริ่มต้นอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผกผันกับค่าครองชีพขั้นพื้นฐานในประเทศอยู่แล้ว ผนวกกับต้นทุนทางสังคมที่มากขึ้น ทำให้การซื้อบ้านถูกมองว่าเป็นภาระขนาดใหญ่เกินไป
ยิ่งไปกว่านั้นคนรุ่นใหม่มีแนวคิดแบบ Freedom ที่อยากจะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในวัยหนุ่มสาวที่ร่างกายยังแข็งแรง และยังมีโอกาสให้ใช้ชีวิตอยู่ พวกเขายินดีที่จะใช้เงินซื้อประสบการณ์ อย่างการท่องเที่ยวเพื่อ Explore โลกใบนี้ (ซึ่งก็รับรู้และได้รับการขัดเกลาจากโลกดิจิทัล) ทำให้สิ่งนี้เป็นอีกตัวแปรใหญ่ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเช่าบ้านมากกว่าซื้อ เพราะการต้องทำงานเก็บเงินก็จะทำให้เสียโอกาสในด้านของประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขาให้คุณค่า หรือหากเป็นการซื้อบ้านด้วยวิธีการผ่อน ก็เป็นภาระผูกพันเกินไป ยิ่งวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ทำงานในองค์กรใดในระยะยาวด้วยแล้ว การเช่าจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับ Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้มากกว่า
ด้วยคน Gen ใหม่ ที่ไม่นิยมลงหลักปักฐาน ยึดติดกับที่อยู่อาศัยที่ใดที่หนึ่งนี้ ทำให้แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ไทยส่อแววที่จะหดตัวลง โดยจากข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565 ซึ่งตลาดคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์สัดส่วนหดลงมาอยู่ที่ 34% จาก 45% และในปี 2566 นี้ก็คาดว่าแนวโน้มตลาดคอนโดนับจากนี้จะเข้าสู่ขาลง โดยหน่วยโอนอาจมีการปรับลดลงราว 8.4% - 12.5% ที่หน่วยโอน 69,800 - 73,000 หน่วย ในขณะที่มูลค่าการโอนอาคารชุดอาจปรับลดลงที่ 3% - 5% ด้วยมูลค่า 2.12 - 2.16 แสนล้านบาท
ข่าวเด่น