Scoop: ยักษ์ใหญ่อสังหาฯ "เอเวอร์แกรนด์" ล้มละลาย ตอกย้ำวิกฤตฟองสบู่อสังหาฯจีน


 

จีน จัดว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่ประชาชนคนจีนมีกำลังซื้อและมีอำนาจในการต่อรองสูง ในสายตาชาวโลกก็ต่างมองว่า จีนกำลังจะกลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ขึ้นแท่นแทนพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่กำหนดทิศทางของโลกให้ประเทศอื่นทำตามมาอย่างยาวนาน ด้วยขนาดทางเศรษฐกิจระดับยักษ์ใหญ่ กองกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเผยแพร่วัฒนธรรมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก หรือการใช้ Soft Power เชิงรุกด้วยสื่อบันเทิงนับตั้งแต่เปิดประเทศมา แต่มีปัจจัยหนึ่งที่จีนซุกเอาไว้ใต้พรม และตอนนี้กำลังจะเป็นระเบิดเวลาที่ทำลายบริบทของเศรษฐกิจในประเทศ นั่นก็คือเรื่องของอสังหาริมทรัพย์


อสังหาริมทรัพย์จีนถือว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 30% ของ GDP จีน ซึ่งเป็นพาร์ทใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ แต่ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีนนั้นมีการก่อตัวเข้าปีที 5 แล้ว เนื่องจากการเกิดขึ้นของโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างมากมายมานานหลาย 10 ปี ทำให้เกิดสภาวะ Over Supply หรือการมีบ้านและคอนโดผุดขึ้นมามากกว่าความต้องการซื้อ และการเกิดขึ้นของมีคนซื้อ แต่ไม่มีคนอยู่ กล่าวคือ คนจีนจำนวนไม่น้อยที่มีกำลังซื้อมากเพียงพอที่จะลงทุน ก็นิยมลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กัน บางครอบครัวจึงอาจมีบ้าน 2 - 3 หลัง โดยหลังหนึ่งเอาไว้อาศัยอยู่เอง และหลังอื่นๆซื้อเอาไว้เพื่อหวังกำไรตามคุณสมบัติของสินทรัพย์ชนิดนี้ที่มีอัตราราคาสูงขึ้นทุกๆปี อีกทั้งทางการของรัฐบาลในพื้นที่ต่างๆก็สนับสนุนให้มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้เข้าทางการรัฐจากการเช่าซื้อที่ดินในโครงการดังกล่าว (คนจีนสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือซื้อที่ดินสร้างสิ่งปลูกสร้างได้ แต่ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของในที่ดิน กรรมสิทธิ์และความเป็นเจ้าของยังคงเป็นของภาครัฐ) โดยจากการตรวจสอบของแคปิตอลอีโคโนมิกส์ พบว่าในปี 2021 อสังหาริมทรัพย์ในจีนราว 100 ล้านยูนิตมีผู้ซื้อไปแล้วแต่ไม่มีใครเข้าไปใช้อยู่อาศัย 


ปัญหาของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จึงได้เริ่มต้นจากจุดนี้ แรกๆก็เป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนให้ GDP ของประเทศได้ แต่พอนานๆเข้าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่สามารถที่จะแบกรับหนี้เอาไว้ไม่ไหว อย่างอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนอย่างเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) ตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมหาศาลทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2021  ซึ่ง ณ ขณะนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ทำให้คนจีนมีทัศนคติการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องถือครองบ้านหลายหลัง เลยเป็นปรากฏการณ์ที่มีการแห่ขายบ้านและคอนโดล้นตลาด หรือมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ทำให้ราคานั้นตกต่ำลงเรื่อยๆ หลายพื้นที่ได้ทำสงครามราคาลดแหลกแจกแถม ถึงขนาดซื้อคอนโด 1 ห้องแถม 1 ห้อง เพื่อจูงใจผู้ซื้อที่มีสัดส่วนน้อยกว่าคนขายในตลาดอย่างมหาศาล


ปัญหาที่คาราคาซังมาจนถึงตอนนี้ และทางรัฐบาลก็ไม่สามารถหาทางออกให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนได้ ทำให้ในที่สุด เอเวอร์แกรนด์ที่ผิดนัดชำระหนี้มา 2 ปี ก็ได้ทำการยื่นล้มละลายต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ เพื่อปกป้องบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทอเมริกันที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเอาไว้ก่อน นอกจากนี้ บริษัทคันทรี การ์เด้น (Country Garden) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีนก็มีประเด็นปัญหาของการผิดนัดชำระหนี้เช่นกัน และที่น่ากลัวก็คือ ทางคันทรี การ์เด้น มีอสังหาริมทรัพย์ในพอร์ต มากกว่าทางเอเวอร์แกรนด์ถึง 4 เท่า หากถึงคราวของเบอร์ 1 ในจีนยื่นล้มละลายขึ้นมา ก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศจีนได้เข้าสู่ยุคของความอ่อนแอทางเศรษฐกิจจีนแล้ว เพราะเมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คิดเป็น 30% ของ GDP ล้มลง ก็จะฉุดดึงให้ทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนในภาคอื่นๆล้มตามกันเป็นโดมิโน่ และเมื่อจีนเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ จากชนชาติที่มีกำลังซื้อสูงในตลาดต่างประเทศ ก็จะมีความต้องการที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เป็นประเทศทางการค้ากับจีน และลุกลามไปเป็นวิกฤตการเงินโลกเลยก็ว่าได้


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเติบโตชะลอลง เนื่องด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นตลาดใหญ่ของภาคการท่องเที่ยวไทย คิดเป็นสัดส่วน 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศ และกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยด้วย เนื่องด้วยกำลังซื้อของชาวจีนลดลงจากพิษเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว


จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอเวอร์แกรนด์ กำลังเป็นสัญญาณเตือนภัยของระเบิดเวลาของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน หากฟองสบู่นี้แตกระเบิดขึ้นมา มูลค่าความเสียหายก็จะยิ่งใหญ่และสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกตามที่กล่าวไปอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากมองกันถึงผลพลอยได้สำหรับประเทศไทยกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังพอมีอยู่บ้าง เพราะในเมื่อจีนยังไม่มีมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์อย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนสัญชาติจีนโยกทุนของตัวเองไปลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ตลาดต่างประเทศแทน เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสในการลงทุน ซึ่งไทยนั้นเป็น 1 ในประเทศเป้าหมายหลักที่จีนมองว่ามีศักยภาพ เพราะไทยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง เช่น ห้องชุดราคาไม่แพงและได้สิทธิถือครอง ค่าครองชีพไม่สูง วัฒนธรรมและอาหารการกินใกล้เคียง  มีโรงเรียนนานาชาติ มีการรักษาก็ได้มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งยังมีสิทธิพิเศษเรื่องสัญชาติหรือได้วีซ่าการพำนักถาวรอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้มีโอกาสที่คนจีนจะเข้ามาถือครองอสังหาริมทรัพย์ในไทยกันมากขึ้นเรื่อยๆ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเติบโตจากทุนจีนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

LastUpdate 27/08/2566 19:16:37 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:32 am