จีน เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด ที่เริ่มต้นตั้งแต่การปฏิรูปประเทศจีน และมีการเปิดประเทศเพื่อการทูตในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง จนในทศวรรษนี้ ด้วยขนาดทางเศรษฐกิจระดับยักษ์ใหญ่ กำลังซื้อของประชากรในประเทศที่สูงจนสามารถใช้เป็นอำนาจต่อรองกับหลายๆประเทศได้ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงมีกองกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนจึงได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ตีคู่ไปกับสหรัฐอเมริกา
แต่ถึงจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีอำนาจมากขนาดไหน ก็ไม่สามารถหนีพ้นวิกฤตของการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ได้ เหมือนกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ทำให้จีนจำเป็นต้องออกมาตร การ Zero Covid ที่ล็อกดาวน์เมืองอย่างเข้มงวดเพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ ทำให้เมืองเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ต้องทำการชัตดาวน์ลง และการเป็นโรงงานของโลก เมื่อสายการผลิตถูกตัดขาด ทำให้โรงงานในจีนต่างย้ายฐานการผลิตออกไป ผู้คนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านออกไปทำงาน ออกไปจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิมไม่ได้ ทำให้เงินในระบบหมุนเวียนน้อยลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งแผ่นดินจีน อีกทั้งสหรัฐได้เปิดศึกสงครามทางเทคโนโลยี Tech War กับจีน ด้วยการกีดกันทางการค้าในอุตสาหกรรมไฮเทค ตัดจีนออกจากการเป็นลูกค้าหลักของเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อต่อต้านไม่ให้จีนได้เติบโตในอุตสาหกรรมไฮเทคและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเอาไปใช้งานทางการทหาร รวมถึงการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน และการทยอยกำจัดบริษัทสัญชาติจีนออกไปจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของจีนหดตัวลงไปอีก
ไม่เพียงแค่นั้นปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่จีนซุกเอาไว้กว่า 5 ปี ก็เริ่มปะทุตัวขึ้นมา โดยทีแรกก็เป็นเครื่องมือชั้นดีที่ขับเคลื่อน GDP ของประเทศได้ เพราะอสังหาริมทรัพย์เป็นพาร์ทใหญ่ในระบบเศรษฐกิจถึง 30% ของ GDP จีน แต่พอนานๆเข้าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่สามารถที่จะแบกรับหนี้เอาไว้ไม่ไหว อย่างอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนอย่างเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) มีหนี้สินมหาศาลจนทำการยื่นล้มละลายต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ อีกทั้งบริษัทคันทรี การ์เด้น (Country Garden) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีนก็กำลังเผชิญหน้ากับภาระหนี้จนเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เช่นกัน
แต่ล่าสุด ทางสำนักข่าว Bloomberg ได้มีการรายงานถึง Total Social Financing ตัวเลขที่สะท้อนการปล่อยสินเชื่อโดยรวมของระบบเริ่มพลิกตัวกลับขึ้นมาแล้ว และตัวเลขของ New Yuan Loans ก็เพิ่มขึ้นมามากกว่าคาดเช่นกัน เป็นตัวสะท้อนว่าสถาบันการเงินของจีนนั้น เริ่มมีการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดของการกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านใหม่ มีการขยายตัว รวมถึงตัวเลขการกู้ยืมในภาคเอกชนระยะกลางถึงยาวก็มีการขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการออกมาตรการของทางรัฐบาลจีนนั้นเริ่มเห็นผลแล้ว
โดยที่ทางการจีนนั้น ได้มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในประเทศเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัว โดยเริ่มจากนโยบายทางด้านการเงิน ทั้งการขยายความสามารถในการให้กู้ของธนาคารจีน ที่ลดอัตราของ Reserve Requirement Ratio หรือเงินสำรองขั้นต่ำลง 0.25% เป็นครั้งที่ 2 ของปี ซึ่งการลด Ratio ตรงนี้ทำให้ธนาคารของจีนสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น และการที่รัฐบาลจีนเตรียมออกนโยบายสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติมด้วยแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของจีนดูเริ่มจะมีการฟื้นตัวขึ้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น ในประเด็นปัญหาของ Country Garden ที่ได้กล่าวไปข้างต้นถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ล่าสุดทางบริษัทได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ให้ขยายเวลาในการชำระหนี้มูลค่า 3.9 พันล้านหยวนออกไปอีก 3 ปี จากเส้นตายเดิมภายในวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ Country Garden ที่คนต่างมองว่าหมดหวังแล้ว กลับรอดตายอย่างหวุดหวิด ซึ่งความหวังที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้ตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมีการคลายความกังวลมากขึ้น หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จีนจึงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นยกแผง
อีกทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่เป็นความหวังต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลัง ที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินฝากออกมาใช้จ่ายมากขึ้น การให้สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า การส่งเสริมการท่องเที่ยว กีฬา ความบันเทิง และวัฒนธรรมในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจภาคเอกชน โดยในปี 2022 พบว่ามีปริมาณเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 80% สะท้อนว่าชาวจีนมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาด แต่ยังไม่ค่อยนำเงินออกมาใช้จ่าย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวจีน ที่ยังไม่กลับมาใช้จ่ายได้เท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดจากผลกระทบในช่วง Lockdown
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งไปให้ความสำคัญกับการลดภาษีและลดเงื่อนไขเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์พลังงานสะอาด (EV) และกระตุ้นผู้ลงทุนให้ติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
ซึ่งมาตรการของรัฐบาลจีนในตอนนี้ เริ่มผลิดอกออกผล สะท้อนออกมาจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนเมื่อวันศุกร์ที่ออกมานั้นดีกว่าคาด โดยการค้าปลีก (Retail Sales Value yoy) ปรับเพิ่มขึ้น 4.6% จากการคาดการณ์ที่ 3% ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output Value Added yoy) ก็ปรับเพิ่มขึ้น 4.5% จากการคาดการณ์ที่ 3.5% จะเห็นได้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นได้ผล และในช่วงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ (29 ก.ย.) และ วันชาติจีน (29 ก.ย.- 6 ต.ค.) ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งในปีนี้จะเป็นการหยุด 8 วันต่อเนื่องกัน หากรัฐบาลมีการออกมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมจากที่เคยวางแผนเอาไว้ การท่องเที่ยวในประเทศที่มีสัดส่วนราว 11% ของ GDP ก็อาจมีบทบาทที่จะช่วยหนุนการเติบโตของ GDP จีน ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5% ในปี 2023 นี้ได้
ข่าวเด่น