เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเอกฉันท์ที่จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด นับเป็นคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 หลังจากมีการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกที่กรอบระดับ 5.00-5.25% เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ยังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ทางธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed มีการประเมินว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยังมีการขยายตัวในอัตราที่มั่นคงอยู่ แต่ก็ยังมีการส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นอีก 1 ครั้งที่ระดับ 0.25% ภายในสิ้นปีนี้
โดยที่ทาง Fed มีการแถลงการณ์ว่า Fed นั้นปรับการคาดการณ์การเติบโตของตัวเลข GDP เป็น 2.1% จากแต่ก่อนที่คาดว่าจะโต 1% และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 3.8% - 4.1% ในปี 2567-2568 ก่อนจะลดลงในปี 2569 สู่ระดับ 4.0% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้มีแนวโน้มแข็งแกร่ง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขการจ้างงานได้ชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ตลาดแรงงานหรือการจ้างงานนั้นยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเรื่องระบบธนาคารของสหรัฐนั้น มีความมั่นคงมากขึ้น จากที่สามารถรับมือและฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินก่อนหน้านี้ได้ เพราะธนาคารสหรัฐปรับมาตรฐานการให้สินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับครัวเรือน และธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ในส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้นยังคงอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดจากรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรือ CPI (Core Consumer Price Index) รอบเดือน ส.ค.2566 ที่เพิ่งประกาศออกมานั้น ตัวเลข CPI มีการปรับตัวสูงขึ้น 3.7% จากรอบเดือน ก.ค. ที่ระดับ 3.2% อีกทั้งยังสูงกว่าระดับการคาดการณ์ที่ 3.6% อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมานั้นตัวเลข CPI มีการปรับตัวลดลงมาตลอด ตั้งแต่รอบของเดือน ส.ค.ปี 2565 การที่ตัวเลข CPI มีทิศทางที่พุ่งตัวขึ้นมา ทำให้ Fed ได้มีการส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงสิ้นปีนี้ เพราะหน้าที่หลักของ Fed ยังคงยึดเป้าหมายหลักที่จะทำให้เงินเฟ้อลดระดับลงมาเหลือ 2% ให้ได้ โดยทาง ซูซาน คอลลินส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาบอสตัน กล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ มิเชล โบว์แมน หนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ที่สนับสนุนให้ Fed เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อเช่นกัน
ซึ่งการจะกลับขึ้นมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก็เพื่อเหตุผลที่จะหยุดยั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ช่วงสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเมื่อปีที่แล้ว การที่ CPI กลับขึ้นมาสูงขึ้นสวนกับทิศทางที่มีการลดลงมาตลอดในรอบ 1 ปี รวมถึงการสนับสนุนของเจ้าที่ Fed ให้ขึ้นอัตราดอเบี้ยอีก 1 ครั้งในสิ้นปี ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง โดย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,963.84 จุด ลดลง 106.58 จุด หรือ -0.31%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,320.06 จุด ลดลง 9.94 จุด หรือ -0.23% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,211.81 จุด ลดลง 12.18 จุด หรือ -0.09% ซึ่งในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลงมากที่สุด ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงานเป็นเพียงสองกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด ส่วนทางด้านตลาดเงิน ค่าเงินดอลลาร์มีการแข็งค่าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังสกุลดอลลาร์มากขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% แตะที่ระดับ 105.5876
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปปิดลบลงในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะมีแนวโน้มที่ยังคงอยู่ที่ระดับสูงจากผลกระทบของ Fed ต่อไปอีกนาน โดยที่ตลาดหุ้นยุโรปมีการปรับตัวลดลงสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ จากทั้งหุ้นกลุ่มก่อสร้างและวัสดุปรับตัวลง 1.0% หุ้นกลุ่มธนาคารยูโรโซนปรับตัวลง 1.4%
ทั้งนี้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ได้กล่าวว่า Fed พร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อเป้าหมายการลดอัตราเงินเฟ้อในระดับที่เข้มงวดที่ 2% แต่ก็ยังมีเป้าหมายที่จะนำเศรษฐกิจสหรัฐลงจอดแบบ Soft Landing ซึ่งจะดำเนินการอย่างระมัดวังและถี่ถ้วน โดยประเมินว่าเงินเฟ้อ อาจจะลดลงมาที่ 3.3% ภายในสิ้นปีนี้ และ 2.5% ในปีหน้า พร้อมทั้งคาดว่าในช่วงสิ้นปี 2025 เงินเฟ้อสหรัฐ จะลดลงมาที่ระดับ 2.2% และถึงระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในปี 2026
ข่าวเด่น