บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือที่คนไทยชอบเรียกกันว่า มาม่า เป็นอาหารแห้งยอดฮิตที่หลายๆคนมักจะมีติดบ้านเอาไว้เสมอ เพราะด้วยรสชาติอันหลากหลาย รสสัมผัสที่ถูกปาก อีกทั้งยังมีความสะดวกต่อการเตรียมและราคาที่แสนจะประหยัด หากเทียบกับอาหารจานหลักประเภทอื่นๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงกลายเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมในแถบเอเชีย ที่มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารประเภทเส้น
และอย่างที่ได้กล่าวไปว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็นอาหารแห้งที่มีราคาถูก ฉะนั้นคุณสมบัติของอาหารเรียบง่ายนี้จึงตอบโจทย์ในกลุ่มคนที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ยอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเลยกลายมาเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศหรือระดับโลกได้ เพราะการเลือกบริโภคอาหารชนิดนี้ ซึ่งอยู่ในหมวดของ “สินค้าด้อย” (Inferior Goods) แทนอาหารมื้อหลักที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าและมีราคาสูงกว่า (Normal Goods) ในทางเศรษฐศาสตร์ สามารถอ้างอิงตามเกณฑ์ของ ดัชนีมาม่า (Mama Index) ดัชนีที่ชี้วัดแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการได้ว่า การบริโภคสินค้าด้อยเติบโตขึ้น เท่ากับ รายได้ของผู้บริโภคลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ในขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจเติบโต ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น การบริโภคสินค้าทั่วไปจะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งยอดขายสินค้าด้อยอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีรายได้ลดลง
ด้านสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก หรือ World Instant Noodles Association รายงานว่า ตัวเลขยอดความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงถึง 2.6% YoY เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อีกทั้งยังแตะระดับสูงสุด 1.2 แสนล้านหน่วย (ที่รวมทั้งประเภทซอง ถ้วย และชาม) โดยเหตุผลที่ตัวเลขนั้นมีการขยับขึ้นเป็นเพราะปัญหาของเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยิงยาวมาตั้งแต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งสูงขึ้นถึง 9.5% ด้วยอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น คนทำงานนอกระบบ หรือคนทำงานที่ไม่มีหลักประกันสังคม มีรายได้ที่ไม่แน่นอน จากการเกิดสภาวะที่ยากต่อการออกไปทำงาน สายการผลิต การขนส่งได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนของสินค้าที่สูงขึ้น อีกทั้งกำไรที่ลดลงจากการขายสินค้าได้น้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการ และบริษัทต่างๆ ต่างมีการปลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งกระทบต่อฐานะของผู้บริโภคที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดเป็นปัญหาการตึงตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อท่ีสูงสุดในรอบ 13 ปี
และถึงแม้ในปีต่อมา หรือปี 2564 เศรษฐกิจทั่วโลกส่วนใหญ่จะมีการฟื้นตัวขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เบาบางลง ที่วัดได้จากยอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ชะลอตัวลงมาเติบโตที่ 1.4% แต่แล้วในปี 2565 ก็เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นสงครามพลังงาน ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อก็ได้ปะทุตัวสูงขึ้นมากกว่าเดิมทั่วโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร (จากค่าพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันที่ขาดแคลน รวมถึงส่งผลต่อการผลิตข้าวสาลี ธัญพืช และปุ๋ยการเกษตร ทำให้อาหารและวัตถุดิบมีต้นทุนที่สูงขึ้น) จึงทำให้คนส่วนใหญ่หันมาเลือกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งทางด้านของสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2565 ล่าสุดดังกล่าวนั้นทุบสถิติสูงสุดซึ่งโตต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว (121.2 พันล้านหน่วย) โดยตลาดที่มีความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงสุดนั้น นำโดยอันดับ 1 ประเทศจีน 45,000 ล้านหน่วย อันดับ 2 ประเทศอินโดนีเซีย 14,000 ล้านหน่วย และอันดับ 3 ประเทศเวียดนาม 8,480 ล้านหน่วย และยังเป็นชาติที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นที่สุดกว่า 3,000 ล้านหน่วยอีกด้วย ส่วนทางด้านประเทศไทยนั้นมียอดการบริโภคในลำดับที่ 9 ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า ที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยอันดับ 1 (Market Share 49%) มีรายได้รวมโตต่อเนื่อง 3 ปีติดเลยทีเดียว (ปี 2563 23,838.54 ล้านบาท ปี 2564 25,095.88 ล้านบาท และปี 2565 27,165.20 ล้านบาท)
จากที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตลาดใหญ่จะอยู่ทางฝั่งเอเชีย แต่ในตอนนี้ ทางประเทศเม็กซิโก กำลังเป็นตลาดที่มีการขยายตัวของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากถึง 17.2% ในปี 2564 และยังคงขยายตัวต่อในปี 2565 ที่ 11% ส่วนด้านสหรัฐก็มีการบริโภคที่ขยายตัว 3.4% ในปี 2565 จากก่อนหน้าที่หดตัว 1.4% นับเป็นปรากฏการณ์ที่ประเทศซึ่งไม่มีวัฒนธรรมการกินเส้น ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจมาบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับการที่บริษัท นิชชิน ฟู้ดส์ และบริษัท โทโย ซุยซัน ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายยักษ์ใหญ่ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ บริษัทจึงได้เริ่มวางแผนตั้งโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นในสหรัฐและเม็กซิโก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นการชี้วัดได้อย่างดีว่าเศรษฐกิจทั่วโลกตอนนี้ยังไม่ได้อยู่ในช่วงที่ดีเท่าไหร่นัก และยังไม่พ้นสภาวะเงินเฟ้อซึ่งเราอาจจะต้องอยู่กับมันต่อไปในอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ข่าวเด่น