หมุดหลักของจีนในปี 2566 นี้ คือการทำให้ GDP ของประเทศ เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5% ซึ่งแม้เศรษฐกิจจีนในช่วงแรกของปีจะมีความน่ากังวลจากประเด็นปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่ลงรากมากว่า 5 ปี แต่หลังจากรัฐบาลจีนได้มีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และออกนโยบายสนับสนุนภาคอสังหาเพิ่มเติม รวมถึงเข้าเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุด 4 แห่งของประเทศ ก็ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวขึ้นมา และล่าสุดนี้รัฐบาลจีน เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหม่มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่า GDP ของไตรมาส 3/2566 ที่บ่งบอกถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเติบโตสูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.9% (จากที่คาดไว้ 4.6%) ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนด้านภาคการผลิตของจีนในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.5% ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือน ส.ค. อีกทั้งตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนก.ย. ก็ขยายตัวอยู่ที่ 5.5% (จากที่ผ่านมา 9 เดือนแรกของปีเติบโตอยู่ที่ 5.2%) จากภาคบริการเป็นสำคัญ การขยายตัวของทั้ง 3 ภาคบ่งบอกว่าเศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนของทั้งปีจะมี GDP เติบโตได้ถึง 5% ตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้
เหตุผลที่จีนสามารถพลิกสถานการณ์ จากที่ทั่วโลกคิดว่าเศรษฐกิจจีนจะตกต่ำลงไปจากปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ กลายมาเป็นเติบโตได้ตามเป้าที่จีนได้วางเอาไว้ เป็นเพราะรัฐบาลจีนได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เริ่มจากนโยบายทางด้านการเงิน ทั้งการขยายความสามารถในการให้กู้ของธนาคารจีน ที่ลดอัตราของ Reserve Requirement Ratio หรือเงินสำรองขั้นต่ำลง 0.25% เป็นครั้งที่ 2 ของปี ซึ่งการลด Ratio ตรงนี้ทำให้ธนาคารของจีนสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินฝากออกมาใช้จ่ายมากขึ้น การให้สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้า ปราบปรามปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ สนับสนุนธุรกิจภาคเอกชน รวมถึงการแทรกแซงตลาดหุ้นจีนโดยตรงที่กองทุนความมั่นคงแห่งชาติได้เข้าซื้อหุ้นธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 แห่ง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมายังตลาดหุ้นจีน
นอกจากนี้ จีนได้เดินหน้าอย่างเต็มกำลังเพื่อให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ด้วยแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน Belt and Road Initiative (BRI) ที่มีมา 10 ปีแล้ว โดยเป็นการขยายอิทธิพลจีนไปยังต่างประเทศ ด้วยการเข้าไปสนับสนุนการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา (เป็นรูปแบบการมอบทรัพยากรและโอกาสทางเศรษฐกิจให้) ซึ่งในตอนนี้รัฐบาลจีนได้ลงนามในสัญญาต่างๆทั่วโลก รวมมูลค่าตอนนี้กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และล่าสุด ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง กล่าวว่า จะอัดฉีดเงินก้อนใหม่กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจะเพิ่มการลงทุนในแผนริ่เริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยมีธนาคารที่ให้การสนับสนุนแผนดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน และ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการกู้ยืมเงินจำนวน 3.5 แสนล้านหยวน (4.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบเส้นทาง นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเงินพิเศษอีก 8 หมื่นล้านหยวน ให้กับสถาบันการปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการ หรือกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)
โดยแผนการริเริ่มหนึ่งแถบเส้นทาง จีนจะได้ประโยชน์จากการที่แผนนี้เป็นการที่จะทำให้จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปได้ทั่วโลกมากขึ้น(การที่ต่างประเทศพึ่งพาจีน จะส่งผลดีทั้งในด้านของการต่อรอง และการกระทำต่างๆที่ส่งผลดีต่อจีน) ผ่านการส่งเสริมการค้าระดับโลกด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมต่อเส้นทางกับเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา อย่างเส้นทางสายไหม ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ จะมีการบูรณาการท่าเรือ การขนส่ง และการค้าอย่างจริงจังภายใต้ ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’ เร่งสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ ไปจนถึงเส้นทางสายไหมทางอากาศ อำนวยความสะดวกต่อการค้าสินค้าและบริการระหว่างจีนกับประเทศต่างๆผ่านเส้นทางนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ในช่วงปี 2567-2571 อีกทั้งจะทำข้อตกลงการค้าเสรีและสนธิสัญญาคุ้มครองการลงทุนกับประเทศอื่นๆมากขึ้น เพื่อขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกด้วย
การเดินหน้าปฏิบัติตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบเส้นทาง จะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัว และยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแรง เพราะเป็นอีก 1 กลยุทธ์ที่จีนจะสามารถป้องกันตัวได้จากการมีสัญญาอยู่ในมือ หากเกิดปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ที่จีนเคยโดนคว่ำบาตร และโดนบีบบังคับทางเศรษฐกิจ เช่น การโดนตัดห่วงโซ่อุปทานในสงคราม Tech war ที่ส่งผลให้รายได้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เทคโนโลยีของจีนลดต่ำลงจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจจีนก่อนหน้านี้
ข่าวเด่น