ณ ตอนนี้ นักลงทุนในตลาดต่างรอคอยการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.นี้กันอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของตน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลที่มีทีท่าว่าจะส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างมองว่า ผลของการประชุมครั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed อาจจะยังไม่ทำการลดอัตราดอกเบี้ย และคงไว้ที่กรอบอัตราเดิม 5.25%-5.50%
จากข้อมูลของทาง CME Fedwatch ด้านบน รายงานว่าผู้ลงทุนในตลาดส่วนใหญ่กว่า 99.9% คาดการณ์ว่า Fed จะยังทำการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25%-5.50% เหมือนเดิมเป็นครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อีกทั้งยังคาดการณ์ไปถึงการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายในปีนี้ หรือในเดือนธ.ค.ว่าก็จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนี้เอาไว้อยู่ โดยเหตุผลที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองแบบนี้ เป็นเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หรือสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าตอนนี้สงครามนี้จะอยู่ในวงจำกัด ยังไม่ได้ลุกลามเป็นสงครามทางตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่านก็ตาม แต่ทางสหรัฐมีท่าทีสนับสนุนอิสราเอล และด้านผู้ส่งออกน้ำมันในกลุ่มประเทศ OPEC ยังไม่มีการจำกัดการส่งออกหรือทำการคว่ำบาตร ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณลบต่อตลาดหุ้น สอดคล้องกับทาง SCB CIO ทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจและข้อมูลด้านการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มองว่า ผลจากการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ Fed มีแนวโน้มที่จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือก็คือการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม เพราะผลตอบแทนพันธบัตรในระดับปัจจุบันก็สูงเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวแล้ว
ทั้งนี้ SCB CIO ยังประเมินความเป็นไปได้ของสงครามออกเป็น 3 ขั้น (Scenario analysis) ได้แก่ 1. สงครามจำกัดวง การสู้รบยังคงจำกัดอยู่ในฉนวนกาซาและอิสราเอล ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น โดยส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกทำให้ปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 4 ดอลลาร์/บาร์เรล จากความเสี่ยงทางการเมือง
2. สงครามตัวแทน ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เลบานอน และ ซีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำตลาดน้ำมันโลกเกิดความกังวลแต่ไม่ร้ายแรงมาก
และ 3. สงครามทางตรง ขั้นร้ายแรงที่สุด ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับซึ่งนำโดยอิหร่าน มีการจำกัดการส่งออกน้ำมันจากผู้ส่งออกหลักในตะวันออกกลาง ส่งผลรุนแรงต่อราคาน้ำมันโลกที่อาจพุ่งขึ้นรวดเร็วในระยะสั้น ประมาณ 64 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ในตอนนี้ สงครามในอิสราเอลยังส่งผลกระทบต่อการค้าไทยจำกัด เนื่องจากอิสราเอลไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย อีกทั้งปาเลสไตน์ก็ไม่ได้มีการค้ากับไทยที่สลักสำคัญ แต่ความกังวลของสถานการณ์สงครามที่บีบให้แนวโน้มของ Fed ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้นั้น กระทบกับค่าเงินบาทของไทยที่ยังไม่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในสัปดาห์หน้า (30 ต.ค.- 3 พ.ย.66) กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ ลบ36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากศุกร์ที่แล้วที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจากการวิเคราะห์ของ พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงค่าเงินบาทไทยในช่วงนี้ว่ามีแนวโน้มที่จะผันผวน จากตลาดหุ้นสหรัฐที่ยังมีความผันผวนรายวัน อีกทั้งผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ยังไม่นิ่งและคงอยู่ในระดับสูง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายหุ้นและพันธบัตรไทยเพิ่มเติมย้ายไปยังตลาดในสหรัฐแทน
นอกจากนี้หากสถานการณ์สงครามนั้นลุกลามและยืดเยื้อ ตรงตามการคาดการณ์ของ SCB CIO ก็แน่นอนว่า มันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยเหมือนช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากราคาน้ำมันโลกและความผันผวนของตลาดการเงิน และในตอนนี้ภาครัฐของเราตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออกในภูมิภาคแอฟริกา จากการที่ไทยเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น (ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย) ฉะนั้นหากเกิดความรุนแรงถึงขนาดเป็นสงครามทางตรงก็อาจกระทบศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะยาวได้
ข่าวเด่น