ในตอนนี้ เหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาสนั้น กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย จะลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เลบานอน และ ซีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน และท้ายที่สุด ก็อาจบานปลายออกไปทั่วตะวันออกกลาง กลายเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านได้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานที่มีความเสี่ยงทะลุ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จัดเป็นสินค้าที่มีความผันผวนตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือเรื่องของปัญหาการเมืองอย่างมาก จากที่ทั่วโลกเคยประสบกันไปแล้วในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อปีที่แล้ว ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานทั่วโลก จากกรณีที่สหรัฐและชาติตะวันตกได้ทำการคว่ำบาตรรัสเซีย ประเทศที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยการขายพลังงานเป็นหลัก ด้วยการลดการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงรัสเซีย ไม่ให้มีงบประมาณเพื่อเอาไปทำสงครามกับยูเครน ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานทั่วโลก (รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก) โดยเฉพาะประเทศในฝั่งยุโรปที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุโรปมาอย่างยาวนาน ต้องแย่งซื้อน้ำมันจากที่อื่นแทน เมื่อ Demand มากกว่า Supply อีกทั้งต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงสุดถึง 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเลยทีเดียว
และเนื่องด้วยภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นแหล่งพลังงานสำคัญทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่มีประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก การเกิดสภาวะสงครามที่แม้จะเริ่มต้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ แต่ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศอื่นๆในพื้นที่นี้ล้วนมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมานานระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำให้มีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะลุกลามกลายเป็นสงครามทั้งพื้นที่ตะวันออกกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกโดยตรง
การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ปาเลสไตน์เป็นเสาหลักทางการเมืองของอิหร่านนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522 และเป็นแนวทางระบอบเทวนิยมของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ได้กำหนดรูปแบบให้อิหร่านเป็นผู้นำในโลกมุสลิม ตอนนี้ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้เรียกร้องให้บรรดาชาติมุสลิมหยุดขายน้ำมันและอาหารให้อิสราเอล เพื่อกดดันให้อิสราเอลหยุดการโจมตีฉนวนกาซา (ผืนแผ่นดินหลักของชาวปาเลสไตน์ที่เป็นจุดศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส) จากรณีที่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อต้นเดือนต.ค.ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อิสราเอลจึงได้ประกาศว่าจะกวาดล้างกลุ่มฮามาสนับแต่นั้น (กองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุน) ซึ่งการโจมตีของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายพันคนเช่นกัน
จากสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนตอนนี้กลุ่มกำลังติดอาวุธฮูตีในเยเมน ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เช่นเดียวกับอิหร่าน ตั้งตัวเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮามาส พยายามยิงจรวดโจมตีอิสราเอลแล้ว เห็นได้ชัดว่าสภาวะสงครามกำลังมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปเป็นสงครามทั่วพื้นที่ตะวันออกกลาง อีกทั้งมีความเสี่ยงที่ซาอุดิอาระเบียจะถูกกดดันบังคับเลือกข้าง (ซาอุดีอาระเบียนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี คนละนิกายกับอิหร่าน) ซึ่งทางธนาคารโลก หรือ World Bank ประเมินว่า หากสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายที่สุด ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 140-157 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นการทำลายสถิติราคาน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่สูงกว่า และจะทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบทั้งสินค้าเกษตรและพลังงานถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากฐานราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่กรมธุรกิจพลังงาน มีการประเมินราคาพลังงานว่า ราคาน้ำมันโลกจะอยู่ที่ระดับ 90-95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากสงครามรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันก็มีความเสี่ยงที่จะขยับสูงทะลุ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ในฝั่งของประเทศไทย ทางกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมัน 9 เดือนแรกของไทยช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. 2566 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19% หรือมีปริมาณการใช้น้ำมัน 153 ล้านลิตรต่อวัน (เป็นผลมาจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวในประเทศ) ซึ่งการใช้น้ำมันในภาพรวมของไทยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นรายสัปดาห์ เพื่อประเมินถึงแผนบริหารจัดการน้ำมัน ทั้งการซื้อน้ำมันสำรองไปจนถึงการเลือกน้ำมันพื้นฐาน ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน เตรียมวางแผนรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกจากสภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาสอย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น