เมื่อช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤตทางการเงิน จากสภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Tightening) จนทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Silicon Valley Bank และ First Republic ได้ล่มสลายไปจากเรื่องของการแบกดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่ไหว การที่ภาคธุรกิจการเงินได้ล้มละลายไปต่อหน้าต่อตานี้ ความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อธนาคารจึงลดลง ทำให้กลุ่มหุ้นของธนาคารสหรัฐมีราคาตกลงไปอย่างน่าใจหาย ซึ่งต้นเหตุของเรื่องนี้ ก็มาจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ต้องแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งตัวสูงขึ้น ให้ลดต่ำลงมาที่ระดับ 2% ด้วยการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัว ทั้งการทำ QT ดึงเงินออกจากระบบ หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 โดยระหว่างทางที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนทั่วโลก โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจนลามเป็นวิกฤตสถาบันทางการเงินดังกล่าว
แต่ต่อมาสถานการณ์ของเงินเฟ้อเริ่มจะทุเลาลง เพราะค่า CPI ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ ในรอบเดือน พ.ค.2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 ปี เมื่อเห็นสัญญาณของปัญหาเริ่มมีการคลี่คลาย ความกังวลของตลาดที่สะสมมาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีก็เริ่มทุเลาลง รวมถึงเรื่องของสถาบันการเงินก็มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในตลาดลงทุน อย่างไรก็ตาม Core CPI หรือดัชนีที่แสดงถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นยังคงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงรอบเดือน พ.ค. เดียวกันที่ 5.5% จึงเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องคอยเฝ้าระวังว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนี CPI จะลดช้าลง หรือเพิ่มขึ้นหรือไม่
และในที่สุดค่า CPI ที่มีทิศทางลดลงมาโดยตลอด และตลาดเริ่มมีการฟื้นตัว จากเห็นท่าทางของ Fed ที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้จนถึงการประชุมในต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางที่กลับตัวขึ้นมาทั้งในรอบเดือน ส.ค.ที่ 3.7% จาก 3.2% ในรอบเดือนก่อนหน้า และรอบเดือน ก.ย.ก็ยังค้างอยู่ที่ระดับ 3.7% อยู่ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่คลี่คลายเร็วๆนี้ และการคาดการณ์ทิศทางของ Fed อาจเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น จากที่ Fed มีแผนจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้และจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า ซึ่งความคลุมเครือนี้ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆในสหรัฐ ไม่สามารถจับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้อย่างแม่นยำ จึงกระทบต่อการปรับ Portfolio จัดสรรสินทรัพย์ในมือของธนาคารได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทาง “อานา อาร์รอส” กรรมการผู้จัดการ บริษัทมูดี้ส์ ได้เปิดเผยว่า ภาคธนาคารของสหรัฐอาจจะยังไม่พ้นภาวะวิกฤตเสียทีเดียว จากความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งตามข้อมูลข้างต้น และการเดาทิศทางของอัตราดอกเบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ก็เสี่ยงที่จะเกิดการล่มสลายของธนาคารอื่นๆตามมา จนตลาดมีมุมมองต่อธนาคารเป็นลบกว่าช่วงต้นปีนี้
เพราะกรณีของ Silicon Valley Bank ธนาคารที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐ ที่ปล่อยเงินกู้ และทำ Venture Capital ลงทุนและร่วมทุนกับบรรดาบริษัท Start Up และเหล่าบริษัทร่วมทุนในอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ประสบปัญหาในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูง ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมก็พุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จนในที่สุด SVB ก็ไม่สามารถแบกรับความขาดทุนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไม่ไหว และถูกรัฐบาลสั่งปิดตัวลงในช่วงเดือนมี.ค. ส่งผลให้ตลาดขาดความเชื่อมั่นในธนาคารระดับภูมิภาคและธนาคารขนาดกลาง
นอกจากนี้ทางบริษัทมูดี้ส์ ธุรกิจจัดอันดับเครดิตพันธบัตรและจัดหาการวิจัยการเงินระหว่างประเทศเรื่องพันธบัตรที่ออกโดยหน่วยธุรกิจและรัฐบาล ก็ได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดกลาง 10 แห่งในช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมาไปแล้ว และทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารรายใหญ่อีก 6 แห่ง เป็นสัญญาณที่ธนาคารรายใหญ่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออีกครั้ง สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ก่อตัวขึ้นมาในปัจจุบัน
ทั้งนี้ มุมมองของ “เจอโรม พาวเวล” ประธานของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed เปิดเผยว่าถึงความกังวลของสถานการณ์เงินเฟ้อ ที่ค่า CPI ในตอนนี้ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งทางธนาคารกลางสหรัฐก็ยังไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน 5.25 - 5.50% ซึ่งเป็นอัตราระดับสูงขณะนี้จะเพียงพอต่อการควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลงมาหรือไม่ เพื่อสอดรับกับเป้าหมายหลักที่ต้องการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อให้เงินเฟ้อลดลงสู่ที่ระดับ 2%ให้ได้ ซึ่งถ้อยแถลงนี้คล้ายกับว่า Fed แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งสุดท้าย หรือเดือน ธ.ค.ของปีนี้ แต่แผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้านั้นอาจถูกเลื่อนออกไป และมีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
ข่าวเด่น