Scoop : จีน-สหรัฐ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ครั้งสำคัญ ส่งผลกระทบกับโลกต่อไปอย่างไร?


เมื่อวันที่ 15-17 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีของสหรัฐ “โจ ไบเดน” และ ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ผู้นำจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ได้มีการหารือรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันในการประชุมสุดยอดจีน-สหรัฐ และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้ โดยจะเชื่อมสัมพันธ์กันทั้งการติดต่อสื่อสารระหว่างกองทัพและข้อตกลงต่างๆ ร่วมกัน ท่ามกลางสายตาชาวโลกที่ต่างมุ่งรอดูผลลัพธ์ที่ต่างคาดการณ์ว่า การเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเศรษฐกิจโลกจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
 
โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ก็มีตั้งแต่การกีดกันทางการค้า สงครามทางเทคโนโลยีที่สหรัฐตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการไม่ส่งส่วนผลิตไมโครชิป และการปิดกั้นการใช้ซอฟแวร์ของ Google การพยายามแบนสื่อโซเชียลมีเดียสัญชาติจีนอย่าง Tiktok ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน, ทะเลจีนใต้ รวมถึงประเด็นการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปัจจุบัน ซึ่งการเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และนับว่าสามารถเชื่อมความสัมพันธ์กันได้สำเร็จ โดยทางโจ ไบเดน ได้มีการเปิดเผยว่า ทางสหรัฐและจีน ตกลงกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ทางทหารอีกครั้ง ด้วยการสร้างช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างกัน ทำให้ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้สื่อสารระหว่างกัน เพราะทั้งสองสามารถติดต่อทางโทรศัพท์และรับฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยตรงทันที และสามารถพูดคุยในยามที่เกิดข้อพิพาททางการทหารในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งยังสามารถแจ้งข่าวหากเกิดการรุกล้ำดินแดนโดยไม่เจตนา (เช่น เมื่อช่วงต้นปี โจ ไบเดน ได้สั่งยิงบอลลูนของจีนที่อยู่บนน่านฟ้าสหรัฐ โดยกล่าวว่าเป็นบอลลูนสอดแนมและเป็นการละเมิดอธิปไตยของสหรัฐ)
 
อีกทั้งยังเป็นการผสานรอยร้าวระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต จากกรณีของความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ที่เมื่อปีที่แล้ว “แนนซี เพโลซี”ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ร่วมประชุมกับประธานาธิบดีไต้หวัน “ไช่ อิงเหวิน” ซึ่งจีนมองว่าเป็นการล้ำเส้นเนื่องจากขัดกับหลักนโยบายจีนเดียว ที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งทางสหรัฐ และนานาประเทศนั้นเคารพนโยบายดังกล่าวของจีนมาโดยตลอด การกระทำดังกล่าวที่ไปเยือนไต้หวันจึงนับเป็นจุดแตกหักที่เกิดขึ้น ส่งผลให้จีนตอบโต้โดยการประกาศซ้อมรบด้วยกระสุนจริงอย่างน้อย 3 ครั้ง บริเวณช่องแคบไต้หวัน และน่านฟ้ารอบไต้หวัน ส่งผลเสียต่อตลาดทุน ที่ทำให้นักลงทุนหลายๆคนโดนล้าง Short กันไปมากมาย และกระทบต่อการวางแผนพอร์ตการลงทุนที่ไม่คงที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ฉะนั้นการฟื้นความสัมพันธ์ทางทหารนี้ แม้ประเด็นเรื่องของไต้หวัน ยังไม่มีการลงเอยที่แน่ชัด ที่ สี จิ้นผิง ยังกล่าวเองว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่อันตรายที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน แต่ท่าทีที่ดีขึ้นระหว่างสองฝ่าย มีส่วนที่สามารถลดโอกาสการปะทะกันไปมาบนข่าวหน้าหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในโลกธุรกิจ และส่งผลต่อตลาดหุ้นที่ผันผวนไปมาตามปัญหาข้างต้น
 
และทั้งสองยังตกลงที่จะร่วมมือในเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยให้คํามั่นสัญญาว่าจะห้ามติดตั้ง AI ในอาวุธอัตโนมัติ เช่น โดรน รวมถึงห้ามใช้เพื่อควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้นวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำมาใช้ภายใต้วัตถุประสงค์ที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจเกิดความหวาดระแวงกันขึ้นในอนาคตเนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับความมั่นคงของประเทศ
 
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้ประกาศข้อตกลงอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น การควบคุมสารเสพติดเฟนทานิล (Fentanyl) จากบริษัทผู้ผลิตในจีนไหลเข้าสู่สหรัฐ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดในสหรัฐเพิ่มขึ้น ส่วนประเด็นที่ยังคงมีอุปสรรคบางประการที่ยังไม่ได้ข้อตกลงร่วมกัน คือเรื่องของความขัดแย้งในอิสราเอลและฉนวนกาซา โดยทางสหรัฐได้ขอให้จีนใช้อิทธิพลของตนเองกับอิหร่าน เพื่อเรียกร้องให้จีนไม่ดำเนินการใดๆ ที่อาจมองว่าเป็นการยั่วยุ แต่ทางจีนยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับทางสหรัฐ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่สำคัญและท้าทายที่จะกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ย. 2566 เวลา : 20:15:42
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:47 am