หากพูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจมีความรู้สึกติดลบกับพลังงานชนิดนี้ เนื่องจากเหตุการณ์พลังงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังที่สร้างภาพจดจำอันน่าหวาดกลัวของพลังทำลายล้างที่เกิดขึ้น อันมีต้นเหตุมาจากการระเบิดตัวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ถ้าพูดตามหลักการแล้ว จริงๆ พลังงานนิวเคลียร์นั้น เป็นพลังงานที่ทั้งสะอาดและปลอดภัยกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดเอาไว้มาก แต่สาเหตุหลักที่ไทย รวมถึงในอีกหลายๆ ประเทศไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เป็นเพราะ “ความกลัว” จากภาพจำในเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว รวมถึงสื่อบันเทิงและภาพยนตร์ต่างๆ ที่เผยแพร่ความน่ากลัวของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระเบิดตัวพลังงานชนิดนี้ จนทำให้คนส่วนใหญ่ล้วนมีอคติกับพลังงานนิวเคลียร์นำหน้าไปก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักมันดีพอ
พลังงานนิวเคลียร์คืออะไร?
พลังงานนิวเคลียร์ จัดว่าเป็นพลังงานสะอาด ที่หลังการผลิตไฟฟ้า สิ่งที่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมรอบข้าง มีเพียง “ไอน้ำ” เท่านั้น ไม่เหมือนกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่ปล่อยของเสีย และมลพิษออกมาหลังการผลิตกระแสไฟ เช่น โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ที่กระบวนการสร้างต้องมีการจุดไฟสองสิ่งนี้ให้เกิดความร้อน และเอาไอร้อนดังกล่าวไปเป็นแรงปั่น Turbine และตัว Generator (เป็น 2 อุปกรณ์ที่มีกลไกหลักในการสร้างกระแสไฟฟ้า) เพื่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าออกมา ซึ่งหลังการผลิตก็ปล่อยทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกมา แต่กระบวนการสร้างกระแสไฟจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น เริ่มมาจากในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่มีอะตอมของธาตุที่ชื่อ ยูเรเนียม นั้น ถูกทำให้แตกตัวมีขนาดเล็กลง และเมื่ออะตอมแตกตัวก็สามารถชนเข้ากับอะตอมยูเรเนียมชิ้นอื่นๆ ได้ด้วย ทำให้เกิด Chain Reaction หรือ อะตอมแตกตัวต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ซึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า “ปฏิกิริยาฟิสชั่น” (Nuclear Fission) เป็นพลังงานที่ที่เกิดขึ้นมาในรูปแบบของความร้อน และก็นำความร้อนนี้ไปใช้ในการผลิตไอน้ำเพื่อหมุนกังหันผลิตไฟฟ้านั่นเอง
ซึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การควบคุมอัตราการเกิดปฏิกิริยา (Reactivity) ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถือเป็นงานหลักของทางโรงไฟฟ้า ที่ต้องควบคุมอัตราการเกิดปฏิกิริยาให้อยู่ภายในช่วงระดับที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัย (ซึ่งจะควบคุมให้สูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับความต้องการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นมากน้อยแค่ไหน) โดยในกรณีที่เกิดขึ้นของเคส เชอโนบิล (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอโนบิล ประเทศยูเครน เกิดการระเบิดเมื่อปี 2529) มีสาเหตุมาจากการควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Generation แรก ที่กลไกของมันคือต้องมีคนคอยเหยียบเบรกให้อัตราการเกิด Reactivity ต่ำลงมา ไม่อย่างนั้นอัตราการเกิดปฏิกิริยาจะพุ่งสูงขึ้นจนเกินระดับที่เหมาะสม ซึ่งการระเบิดในโรงไฟฟ้าเชอโนบิล เกิดจาก Human Errors หรือเรียกง่ายๆ ว่าความสะเพร่าของคนงานที่ควบคุมไม่ดีพอจนเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงในที่สุด
ส่วนในเคสการระเบิดของฟุกุชิมะนั้น เป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใน Generation ที่ 2 โดยในวันที่ระเบิดนั้น ตรงกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ซึ่งรุนแรงมากติดอันดับโลก ขนาดที่ทำให้แกนของโลกขยับออกจากแนวเดิม และทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มเกาะฮอนชู (จังหวัดฟุกุชิมะ ตั้งอยู่ในภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อยู่ทางเหนือของเกาะฮอนชู) โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าก็มี Security ป้องกันภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ด้วยการปิดการใช้งานตัวเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ แต่ปัญหาก็คือสึนามิที่พัดเข้ามาในอีก 1 ชั่วโมงต่อมาหลังการปิดระบบ มีคลื่นสูงถึง 14 เมตร ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของวิศวกรในโรงไฟฟ้าที่ตั้งไว้ 9 เมตร ซัดถล่มเข้ามาภายใน เป็นเหตุให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉิน ที่ทำหน้าที่สูบสารหล่อเย็นไปยังรอบๆ แกนของเตาปฏิกรณ์เพื่อ Cool Down ระบบ เกิดหยุดชะงักขึ้นมา อุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์จึงเพิ่มสูงขึ้นจนร้อนจัด ส่งผลให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลาย หรือเรียกว่า การหลอมละลายนิวเคลียร์ (Nuclear Meltdown) จนเกิดการระเบิด อีกทั้งยังมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและมหาสมุทรในหน้าประวัติศาสตร์ดังที่เห็น
เรียกได้ว่าการระเบิดของฟุกุชิมะเป็นเหตุมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเสียมากกว่า เนื่องจากจุดด้อยของพื้นที่โรงไฟฟ้าที่ตั้งในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมาก หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งในประเทศไทย ก็นับว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดจากภัยธรรมชาติแทบจะไม่มีเลย และด้วยเทคโนโลยีและระบบสมัยใหม่ในปัจจุบัน กรณีการระเบิดของเชอโนบิลก็ไม่สามารถเกิดขึ้นซ้ำสองได้อีกแล้ว เพราะการควบคุมอัตราการเกิดปฏิกิริยาในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มีหลักการทำงานที่สลับกับ Generation แรก ที่หากไม่มีการควบคุมอัตราการเกิด Reactivity เลย ปฏิกิริยาก็จะลดต่ำลงจนเตา Shut Down หยุดทำงานในที่สุด จึงต้องมีการเหยียบคันเร่ง ควบคุมให้ปฏิกิริยาสูงขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ หากมี Human Errors หยุดควบคุมเตาปฏิกรณ์ไปกลางคัน
ในส่วนของกากพลังงานเหลือทิ้งที่สามารถปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีออกมาได้หลังการผลิตนั้น จริงๆสัดส่วนของกากพลังงานดังกล่าวมีน้อยมาก และส่วนใหญ่ก็สามารถปล่อยทิ้งไว้ (มีการจัดเก็บให้พ้นคน) อย่างน้อย 5 ปี สารกัมมันตภาพรังสีก็จะหายไปเอง และกากพลังงานส่วนน้อยที่มีความเข้มข้นของสารกัมมันตภาพรังสีสูง ก็สามารถโบกคอนกรีตขังไว้ หรือใช้เทคโนโลยีทำการขุดฝังลงในดินชั้นลึกได้ และถ้าจะลงลึกไปถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์แล้ว ใน 1 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Nuclear Reactor) = 1 Gigawatt เทียบกับพลังงานจากเขื่อนทั้งหมดของไทย 3.12 Gigawatt
กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของ กฟผ.
ส่วนพลังงานความร้อน เช่น จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ผลิตได้มากสุดตามภาพด้านบนอย่างแม่เมาะจะผลิตได้ 2.2 Gigawatt ซึ่ง 1-2 เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็สามารถแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่งได้เลย แถมยังสามารถแก้ปัญหาผลกระทบมลภาวะเป็นพิษ จากการเผาถ่านหินที่คร่าชีวิตผู้คนในชุมชนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้อีกด้วย ซ้ำแล้วหากเราสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้เองในไทยประเทศเราก็จะมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน และลดความเสี่ยงทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ในตัวอย่างจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทั่วโลกได้พบเจอกับผลกระทบที่เกิดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้
แล้วทำไมที่ไทยถึงไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์?
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ในปี 2510 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และต่อมารัฐบาล ณ ตอนนั้น ก็ได้เห็นชอบโครงการ ซึ่ง กฟผ. ได้เสนอขออนุมัติเพื่อเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว แต่ติดที่ปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะความคิดเห็นของผู้คนส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีและเรื่องการกำจัดกากพลังงานนิวเคลียร์ จึงทำให้โครงการเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาทาง กฟผ. ก็ได้ริ่เริ่มโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2534 และได้สถานที่ตั้งที่เหมาะสม จำนวน 5 แห่งแล้วด้วย แต่เนื่องจากไม่มีนโยบายจากรัฐบาลที่ชัดเจน โครงการจึงถูกพับเก็บไปอีกตามเคย จนกระทั่งถึงปี 2550 รัฐบาลในช่วงเวลานั้นตระหนักถึงปัญหาการผลิตไฟฟ้า ที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันประมาณ 80% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ และต้องพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึง 70% จึงทำให้มีการร่างแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างจริงจัง ทั้งจัดตั้งสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นภายในกระทรวงพลังงาน คัดเลือกสถานที่ตั้ง การกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และการจัดเตรียมด้านบุคลากรแล้วเรียบร้อย แต่เนื่องจากเกิดกระแสคัดค้านของประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซ้ำแล้วในปี 2554 ซึ่งเป็นปีของการร่างแผนโครงการโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ในปีเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงยิ่งโหมกระแสตื่นกลัวต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝังรากลึกจนมาถึงทุกวันนี้
ความกลัวของระดับสาธารณชน จึงเป็น 1 เหตุผลหลักที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซ้ำแล้วยังต้องมีนโยบายจากรัฐบาลที่สอดรับกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งทุกวันนี้ บรรดานักวางแผนและจัดหาพลังงานยังไม่เคยล้มเลิกกับโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สอดคล้องกับการรายงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่รายงานว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเป็นพลังงานเลือกใหม่ที่สำคัญในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพราะตอนนี้ ทรัพยากรพลังงานซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเริ่มหายากและไม่เพียงพอ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะทำให้ไทยมีต้นทุนค่าไฟฟ้าถูก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศโดยรวมได้”
หากคนไทยมีความรู้ความเข้าใจกับพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นในระดับสาธารณะ “โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” อาจได้มีการหยิบยกขึ้นมาเดินหน้าแผนกันอีกครั้ง อันเป็นการปูทางความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย อย่างไม่ต้องสงสัย
ข่าวเด่น