Special report : "Stop Scrolling!" ปี 2024 หยุดเสพติดสมาร์ทโฟน ด้วยการดีท็อกซ์ "โดพามีน" ในสมอง


 

ปัจจุบัน “สมาร์ทโฟน” กลายมาเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ผิดกับคอนเซปต์ของ “มือถือ” ในช่วงยุคก่อนหน้า ที่ใช้ได้เพียงการโทรเข้า-ออก เป็นหลักเท่านั้น เพราะสมาร์ทโฟนได้ครอบคลุมการใช้งาน ตั้งแต่การติดต่อสื่อสาร ทั้งรูปแบบของการโทรผ่านเครือข่าย และการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตติดต่อกัน ทั้งการแชทคุย การส่งรูปภาพ วีดีโอ การเขียนบทความ การไลฟ์สตรีม อีกทั้งยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อของ ค้นหาข้อมูลความรู้ ไปจนถึงการสร้างตัวตน การเข้าร่วมสังคม และการสร้างอาชีพ เรียกได้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกได้ในแทบทุกแง่มุม ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สมาร์ทโฟนทำอะไร และใช้สมาร์ทโฟนอย่างไร
 
สมาร์ทโฟน จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้ในแต่ละบุคคล แต่ด้วยความที่สมาร์ทโฟนเป็นเสมือนช่องทางที่ Connect เราเข้ากับคนทั่วทุกมุมโลก และพาเราเข้าสู่ Content ต่างๆ หรือ คลังข้อมูลขนาดมหาศาลในโลกออนไลน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด สมาร์ทโฟนจึงสามารถพาเราไปไหนต่อไหนได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งรู้ตัวอีกที เราอาจใช้เวลากับสมาร์ทโฟนไปทั้งวัน อยู่กับการไถฟีดหน้าจออย่างลืมตัว หรืออาจกำลังต่อกรกับ Hate Comment อยู่ก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “การเสพติดสมาร์ทโฟน” ที่เราเพลิดเพลินกับการใช้สมาร์ทโฟน จนเราอาจลืมทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญในชีวิตของเรา ซึ่งจริงๆแล้ว ลักษณะของการเสพติดสมาร์ทโฟน บทบาทของเราไม่ใช่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน แต่เป็นสมาร์ทโฟนต่างหากที่กำลังใช้เราอยู่
 
โดยเบื้องหลังของการเสพติดสมาร์ทโฟนนี้ มีเหตุมาจาก “โดพามีน” หรือสารเคมีในระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์พึงพอใจ หรือเรียกได้อีกชื่อว่าเป็นสารแห่งความสุข โดยจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษเมื่อเราทำอะไรที่บรรลุตามเป้าหมายหรือเกิดความพึงพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ฉะนั้น การได้เล่น ได้เสพสื่อในสมาร์ทโฟน จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่กระตุ้นให้สารโดพามีนนั้นหลั่งออกมา ซึ่งสารที่ทำให้เรารู้สึกดีนี้ แน่นอนว่ามันเป็นสารที่จิตใจเราต้องการ หากเราเกิดความเครียดหรือได้รับความเจ็บปวดจากสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นมา และในบรรดากิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับสารโดพามีน การใช้สมาร์ทโฟน ก็เป็นกิจกรรมที่เสมือนเป็น Shortcut ที่ทำให้เราเข้าถึงความสุขได้รวดเร็วที่สุด เช่นเดียวกับการได้กินอาหารอร่อยๆ
 
แน่นอนว่ายังมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อีกมากที่มีผลต่อการหลั่งสารโดพามีน และทำให้เราเกิดความสุข เช่น การทำงาน ทำโปรเจคได้สำเร็จ การลงเรียนคอร์สใดคอร์สหนึ่งได้สำเร็จ หรือการประสบความสำเร็จในเส้นทางการเงินและการงาน การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ก็ทำให้เราเกิดความสุขได้เช่นกัน แต่มันแค่เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เวลา และสมาร์ทโฟนที่อยู่ตรงหน้ามันสามารถทำให้โดพามีนหลั่งออกมาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ หรือต้องการหลบหนีความกังวลและความเหงา ก็อาจใช้การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาไถ่ฟีดแก้เหงา หรือสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ขึ้นมาอีกตัวตนหนึ่งเพื่อทำในสิ่งที่อัดอั้นตันใจหรือปลดปล่อยด้านมืดของตัวเองออกมา เช่น เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับเรื่องยุ่งยากที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่เราแก้ไขความกังวลความเจ็บปวดของเราไปที่การใช้สมาร์ทโฟนเพื่อหลีกหนีปัญหาในโลกของความเป็นจริง เป็นต้น
 
ดีท็อกซ์สารโดพามีน ด้วยการลดการใช้สมาร์ทโฟน
 
สังเกตตัวเองง่ายๆ ว่าเรามีสภาวะเสพติดสมาร์ทโฟนหรือไม่ ด้วยการดูเวลาที่เราใช้ไปกับสมาร์ทโฟนกี่ชั่วโมงต่อวัน เราชอบไถ่ฟีดดูวีดีโอไปเรื่อยๆ แต่จำเนื้อหาที่เราดูก่อนหน้าไม่ได้ใช่หรือไม่ มีกิจกรรมที่ย้ำคิดย้ำทำกับสมาร์ทโฟน อย่างชอบปลดล็อคหน้าจอ หรือเผลอเช็คสมาร์ทโฟนตลอดเวลาที่มีโอกาสหรือเปล่า ถ้าใช่ เราก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่หาโอกาสเพิ่มความสุขในระยะสั้นและเบี่ยงเบนอาการเบื่อหน่าย จากปัญหาอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แนะนำว่า ให้ลองกลับมาทบทวน ขุดคุ้ยสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความเบื่อหน่าย หรือความกังวลที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งเมื่อเจอแล้ว ควรเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะค่อยๆลดการใช้สมาร์ทโฟนไปโดยปริยาย และเมื่อปัญหาในชีวิตจริงได้รับการแก้ไข สารโดพามีนจะหลั่งออกมาสร้างความสุขให้กับเรา เป็นรางวัลใหญ่ที่เราจะรู้สึกดีมากกว่าความสุขระหว่างทางอย่างการไถ่ฟีดหน้าจอสมาร์ทโฟนอย่างเรื่อยเปื่อยเป็นไหนๆ

LastUpdate 18/02/2567 22:53:15 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:19 am