ในชีวิตประจำวัน มนุษย์อย่างเราที่อยู่ในระบบสังคม ต่างต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ที่วิ่งเข้ามาหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรค ที่ Random เข้ามาอย่างไม่จบไม่สิ้น ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก โตขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทเป็นวัยทำงาน และชีวิตหลังเกษียณอายุ ซึ่งแต่ละบุคคลก็จะเผชิญเข้ากับปัญหาในเรื่องที่แตกต่างกันออกไป แต่ตรงนี้เอง ที่หลายคนอาจเคยเผลอเอาปัญหาในชีวิต ไปเปรียบเทียบกับของคนอื่น เพื่อหาคำตอบในข้อสงสัยที่ “คิดขึ้นเอง” ว่า ทำไมคนนี้เขาดูมีความสุขกว่าเรา? ในเมื่อเขาเจอปัญหาเรื่องเหมือนๆ กันกับเรา แต่ทำไมเขาดูไม่เครียดเลย? เขามีต้นทุนดีกว่าเราใช่ไหม? หรือ ปัญหาเขาน้อยกว่าเราหรือเปล่า? จริงๆแล้วมันอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพียงแต่พวกเขาสามารถรับมือกับปัญหาได้ดี สามารถบริหารพลังงานกายใจ และเวลา ไปใช้กับสิ่งที่อยากจะทำ แทนที่จะวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาที่ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่แบบนั้น ซึ่งก็คือการมีทักษะ RQ นั่นเอง
RQ หรือที่ย่อมาจาก Resilience Quotient เป็นความสามารถในการฟื้นฟูสภาพอารมณ์และจิตใจของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติ ไม่จมดิ่งไปกับความเลวร้ายของสถานการณ์ตรงหน้าที่กำลังเผชิญอยู่ เรียกได้ว่าเป็นการฟื้นฟูตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยน Mindset มองปัญหาในมุมใหม่ และเข้าสู่โหมดพร้อมฮึดสู้จัดการกับปัญหา หรือปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยสภาพจิตใจที่เป็นสุข ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น คนที่ไม่มี RQ มักจะมีความยึดติดกับสิ่งที่เราต้องการจะให้มันเป็นในแบบเดิม เมื่อประสบเข้ากับปัญหาในชีวิต หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา ด้วยการพยายามที่จะควบคุมในสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกทุกข์ร้อน ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และเกิดความรู้สึกท้อแท้กับการวางบทบาทตัวเองว่าไม่สามารถท้าทาย และปรับตัวเปลี่ยนแปลงเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โดยมักจะมีชุดความคิดที่ว่า “เรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นเลย” “ทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้” เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อชีวิต ที่มีแนวโน้มขาดความมั่นคง ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง (ว่าเรามีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้) มีความเครียดเรื้อรัง และลงเอยที่มีภาวะซึมเศร้าในที่สุด
กลับกัน คนที่มี RQ หรือมีทักษะฟื้นฟูตัวเองได้ เมื่อชีวิตเผชิญเข้ากับปัญหาและอุปสรรค ที่เป็นพลังงานทางด้านลบ คนเหล่านั้นสามารถมองเห็นอีกด้านของเหตุการณ์นั้นในมุมมองบวก (เป็นคนที่สามารถมองสิ่งต่างๆ ได้ในหลายมุมมอง จนเห็นด้านบวกในปัญหานั้นๆ ) สามารถเอาชนะหรือปรับตัวเพื่อ Blend In เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนั้น ตรงตามวลี “Do with what I have” กล่าวคือ พวกเขามองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะต่อกรกับปัญหาตรงหน้า ด้วยทรัพยากร หรือโอกาสต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ แทนที่จะตกอยู่ในสถานะพ่ายแพ้ ที่จำยอมว่าตัวเองเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อยากมีทักษะ RQ ที่สูงขึ้นต้องทำอย่างไร?
ทักษะฟื้นฟูตัวเองนี้ สามารถฝึกกันได้เช่นเดียวกับ IQ และ EQ โดยตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็จะพอเห็นเค้าโครงของทักษะนี้แล้วว่ามันขึ้นอยู่กับการมองโลกในแง่ดีเป็นหลักสำคัญ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การจะฝึกฝนให้เห็นผลได้ในทางปฏิบัติ จะต้องเข้าใจถึงดัชนีของทักษะ RQ ตามการอ้างอิงจากหนังสือ Resilience ยืนหยัดได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ของ คิมจูอวัน ก่อนว่า คนเรามีการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Experiencing Self และ Remembering Self
1.Experiencing Self คือ ตัวตนรู้สึก เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เราสัมผัสได้โดยตรง ซึ่งเราจะมีความรู้สึกกับเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่อย่างตรงไปตรงมา เช่น รู้สึกมีความสุขกับเรื่องน่ายินดี และรู้สึกทุกข์ จากเรื่องที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด (หรือการเจ็บปวดด้านร่างกาย เช่น โดนมีดบาดแล้วรู้สึกเจ็บ การเรียนรู้ตรงนี้ก็เป็นตัวตนรู้สึก)
2.Remembering Self คือ ตัวตนจดจำ ที่ผ่านการระลึกและประเมินค่าจากประสบการณ์ที่ตัวตนรู้สึกประสบพบมา ซึ่งตัวตนจดจำนี้ คนเราจะมีการจดจำที่ไม่เหมือนกันเลย แม้จะเผชิญกับเรื่องเดียวกันก็ตาม เพราะมันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา เราจะบันทึกเป็นเรื่องเราให้ตัวเองฟังในทางบวกหรือทางลบ
โดยทักษะการฟื้นฟูตัวเอง จะขึ้นอยู่กับตัวตนข้อที่ 2 Remembering Self ว่าเราจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร หากเราบันทึกเรื่องราวในทางที่เป็นบวก (จบดี) ก็จะทำให้เรามีพลังที่จะฟื้นฟูตัวเองสูงขึ้นด้วย ฉะนั้นหากอยากพัฒนาทักษะ RQ ให้เราอยู่ในโหมดพร้อมรบ โดยเฉพาะในช่วงการทำงาน ที่เราต้องเผชิญเข้ากับ Challenge ต่างๆมากมาย อย่างแรกที่ควรทำเลย คือ
1.ยอมรับปัญหาและอุปสรรคในทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องทำให้ Remembering Self จดจำไปในทิศทางบวกโดยอัตโนมัติ ผ่านการฝึกให้สมองของเราคิดไปในทางบวก หรือมองปัญหาในมุมใหม่ เช่น การโดนสั่งแก้งาน อาจมองในมุม Benefit ว่ามันช่วยขัดเกลาให้เรามีความละเอียดมากขึ้น ได้รู้จุดอ่อนของตัวเอง และพัฒนาคุณภาพของการทำงานให้ดีขึ้น
2.ไม่ยึดติดกับนิยามเดิม หรือความคิดในรูปแบบเดิมที่เป็นปกติของสังคม เพื่อที่เราจะสามารถคิดนอกกรอบ และมองเห็นมุมมองใหม่ๆ ของสิ่งเดิม โดยที่ไม่นิยามมันตั้งแต่แรก ว่าเป็นได้แค่สิ่งนี้เท่านั้น เช่น การเอากล่องคุกกี้มาเป็นที่ใส่อุปกรณ์เย็บผ้า ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่ากล่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใส่ได้แค่คุกกี้ แต่เป็นภาชนะรองรับอย่างอื่นได้ ตัวอย่างที่เห็นภาพเช่นนี้ เป็นการเปิดวิสัยทัศน์ของตัวเองถึงความเป็นไปได้ ที่จะพลิกแพลง มองมุมกลับปรับมุมมองด้วยความคิดสร้างสรรค์
3.เรียนรู้วิชามนุษย์ ด้วยความที่มนุษย์ สัตว์สังคมอย่างเรา โดยเฉพาะในวัยทำงานที่ต้องดีลกับคนหลากหลาย การพยายามลงสนาม มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นเพื่อเรียนรู้ว่าคนเรามีนิสัยใจคอหลากหลายแบบ จะทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เช่น หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ใครมาว่าเรา แล้วเราไม่สามารถรองรับอารมณ์ที่แตกต่างจากที่เคยพบมา (เพราะมีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นน้อย) เราก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำกับเราแบบนี้ เกิดความรู้สึกสั่นไหว ไม่รู้จะรับมือกับความแตกต่างนี้อย่างไร จนอยู่ในสภาวะเครียดเรื้อรัง ส่งผลต่อการทำงาน และตัวตนที่ไม่มั่นคงได้ในที่สุด
ปัญหาในชีวิตหนึ่งเรื่อง อาจนำไปสู่ปัญหาที่ 2 และร้อยเรียง ส่งต่อๆ กันไป แต่หากเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องแรกได้ ก็อาจจะไม่มีปัญหา หรือเรื่องยุ่งยากอื่นๆ ขึ้นตามหลังมาอีก ฉะนั้น กระบวนการเอาชนะความท้าทาย และความยากลำบากต่างๆ บนพื้นฐานของการมีทักษะ RQ ที่แข็งแกร่ง จะเป็นขุมพลังที่ทำให้เราสามารถเยียวยาตัวเองให้กลับเข้ามาสู่โหมดฮึดสู้ ที่บริหารจัดการพลังงานตัวเองได้อย่างเหลือเฟือ สามารถนำเวลาที่อยู่อย่างจำกัดไปทำในสิ่งที่อยากทำ แทนที่จะหมดไปกับความรู้สึกทุกข์ใจ จากการมีมุมมองในแง่ลบ
ข่าวเด่น