การสร้าง “Financial Security” หรือ สถานะทางการเงินที่มั่นคงปลอดภัย เราอาจต่างรับรู้ How to พื้นฐานของเรื่องการเงินกันมาแล้ว ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แผนการออมและการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศาสตร์ของการบริหารจัดการเงินโดยตรงทั้งสิ้น แต่อันที่จริง เรื่องของ “การจัดระเบียบ” ก็เป็นอีกศาสตร์ ที่มีอิทธิพลต่อเงินในกระเป๋าของเราที่สำคัญไม่แพ้กัน และควรให้ความสำคัญอย่างมาก หากอยากยกระดับความมั่งคั่งทางการเงินของตัวเอง
การจัดสิ่งของอย่างเป็นระบบระเบียบ ช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น ไม่เสียพลังงานชีวิตไปกับเหตุการณ์ที่น่าปวดหัว เช่น ไม่รู้ว่าของที่ซื้อเก็บไว้ไหน เวลาอยากเอามาใช้ก็ต้องควานหาให้ทั่วทุกซอกทุกมุม หรือรู้สึกเกิดความหงุดหงิดใจ กับของที่วางกระจัดกระจายกินพื้นที่ในบ้าน ส่งผลให้เกิดอารมณ์ทางลบในวันนั้นทั้งวัน เนื่องจากการจัดระเบียบ ทำให้เราเกิดความ “ตระหนักรู้” อยู่ตลอด ว่าสิ่งของที่เราซื้อมานั้นวางอยู่ตรงไหนบ้าง ทำให้ง่ายต่อการหยิบออกมาใช้ และที่สำคัญคือ ได้ตระหนักรู้ว่า ที่ผ่านมาเราซื้ออะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งทำให้เราไม่เสี่ยงต่อการซื้อซ้ำ และลดการซื้อของที่ไม่จำเป็น อันเป็นการสร้างนิสัยการบริโภคอย่างมีเหตุผล และควบคุมความต้องการของตัวเองได้
ลองคิดดูว่า หากสิ่งของถูกวางกองอยู่ทั่วบ้านเต็มไปหมด นอกจากจะกินพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังทำให้ไม่รู้ว่ามีของอะไรที่เราได้ซื้อมาแล้วบ้าง เมื่อไม่ได้ระหนักรู้ว่ามีอยู่ ทำให้ไม่ได้ใช้ของที่ซื้อมาให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควร บ้างก็ลืมไปแล้วว่าซื้อมา ทำให้เกิดการซื้อซ้ำเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะการซื้อสิ่งของดังกล่าว มักเป็นการใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ จากการอาศัยอยู่ในสังคมทุนนิยมที่เราได้รับสารโฆษณาจากผู้ขายได้อย่างง่ายดาย ผ่านสมาร์ทโฟน และแทบจะทุกช่องทางอื่นๆ ที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยในยุคนี้ เมื่อผนวกกับการที่ไม่รู้ว่าเรามีสิ่งของอะไรอยู่แล้วบ้าง ทำให้การใช้จ่ายกับสิ่งของราคา เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เมื่อรวมกันอาจกลายเป็นการใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ฉุดรั้งสถานะการเงินที่ไม่มีความปลอดภัยแบบชักหน้าไม่ถึงหลังในทุก ๆ เดือนก็เป็นได้
จากตัวอย่างดังกล่าว เห็นได้ว่าการที่คนๆ หนึ่งจะมีเงินไม่พอใช้ อาจไม่ใช่เพราะหาเงินได้น้อยเสมอไป แต่เพราะใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย (ที่ไม่ได้เกี่ยวกับราคา แต่หมายถึงการซื้อสินค้าที่ไม่มีความจำเป็น) ซื้อแล้วลืม ซื้อเก็บไว้ก่อนเพราะสินค้ากำลังลดราคา หรือซื้อเพราะถูกกระตุ้นจากโปรโมชั่น 1 แถม 1 ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ของที่ต้องการจริงๆ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้เงินอย่างฉลาด โอกาสที่เราจะมีเงินเพิ่มขึ้นก็สูงตามไปด้วย ซึ่งสามารถเป็นจริงได้ ด้วยการจัดระเบียบใหม่ จัดการสิ่งของเป็นสัดส่วนที่เราสามารถมองเห็นได้ ว่าตอนนี้มีสิ่งของอะไรอยู่บ้าง อะไรที่ไม่ใช่ก็คัดออกไป ทำให้เกิดการตระหนักว่า สิ่งของแนวนี้ไม่จำเป็นต้องซื้ออีก ของประเภทคล้ายๆ กันไม่จำเป็นต้องซื้อมาเพิ่ม หรืออะไรที่มีอยู่แล้ว ก็จะไม่เกิดการซื้อซ้ำเข้ามา และสามารถตระหนักรู้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการใช้เงินได้อย่างมีสติมากขึ้น ผ่านการพิจารณาว่าสิ่งของไหนบ้างจำเป็นกับตัวเอง และเลือกซื้อโดยคำนึงถึงความจำเป็นเป็นหลัก ไม่ใช่ความต้องการที่ถูกระตุ้นจากสังคมวัตถุนิยม หรือมาตรฐานจากภายนอกว่าเราต้องมี ต้องซื้ออะไร ซึ่งไม่ใช่ความต้องการที่เกิดขึ้นจากตัวเราตั้งแต่แรก
เริ่มต้นจัดระเบียบสิ่งของอย่างไรดี?
อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนไม่สามารถเก็บเงินได้มากพอ ก็เพราะไม่รู้ว่าใช้จ่ายเงินของตัวเองไปเท่าไหร่ ใช้ไปกับเรื่องอะไรบ้าง และเหลือเงินเท่าไหร่ในแต่ละเดือน ทำให้พวกเขานำเงินที่มีใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ดังนั้นควรผนวกการจัดการเงินที่เป็นพื้นฐานที่สุด อย่าง การจดบันทึกรายจ่ายให้รู้ว่าวันนี้ใช้จ่ายไปกับอะไร แต่ละเดือนใช้ไปเท่าไหร่ เข้ากับ “การจัดระเบียบเงินในกระเป๋า” ลองหยิบสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ออกมาให้หมด คัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เช่น พวกใบเสร็จ คูปองที่หมดอายุ และสำรวจบัตรเครดิตของตัวเอง ถ้าตอนนี้เปิดใช้อยู่หลายใบ ก็ควรพิจารณายกเลิกสัก 1 ใบ เพราะการมีบัตรเครดิตหลายใบก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราใช้เงินอย่างสิ้นเปลืองได้มากกว่าเดิม ควรคัดแต่ของสำคัญ ได้แก่ เงินสด บัตรเครดิตหลักที่ใช้บ่อยๆ รวมถึงบัตรสะสมคะแนน คูปองสะสมแต้มต่างๆ ตามที่จำเป็นต่อการใช้ จากนั้นก็ใส่ของแต่ละอย่างแยกกันเป็นสัดส่วน (อาจเปลี่ยนกระเป๋าที่ทำให้เห็นง่ายๆเวลาเปิดใช้ เช่น มีที่เก็บบัตรเฉพาะ มีที่ใส่ธนบัตรให้เห็นง่ายว่ามีเงินเท่าไหร่) โดยการจัดกระเป๋าแบบนี้จะช่วยลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะสามารถตรวจสอบได้ด้วยสายตาว่าเราเหลือเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ เป็นการป้องกันการจ่ายแบบไม่ยั้งคิดได้
เมื่อเราเริ่มพลิกเป็นฝ่ายควบคุมเงินได้แล้ว สิ่งที่แนะนำต่อมา คือ “ค้นหาเงินที่ซ่อนอยู่ที่ต่างๆตามบ้าน” ซึ่งขั้นตอนนี้คือการทำทับซ้อนร่วมกับ “การจัดการสิ่งของในบ้าน” ที่ตรวจสอบสิ่งของที่มีทุกอย่าง แยกประเภทสิ่งของออกมา แบ่งเป็น ของที่จำเป็นต้องใช้ กับของที่ไม่ใช้ ซึ่งประเภทที่ 2 ตรงนี้ สามารถคัดออกมาเป็นเงินเข้ากระเป๋าได้ เช่น สิ่งของที่เราอาจไม่เคยเปิดใช้งานเลย ไม่มีความต้องการใช้ แต่เป็นสิ่งของที่ยังมีคนอื่นต้องการอยู่ ก็สามารถทำการขายต่อได้ ส่วนของที่ไม่ใช้อื่นๆ ก็พิจารณาบริจาคหรือคัดทิ้งออกไป (เช่น เสื้อผ้าเก่าๆ หรือของกินที่หมดอายุแล้ว) หลังจากนั้น สิ่งของที่ยังจำเป็นต้องใช้อยู่ ก็จัดระเบียบให้เป็นระบบและง่ายต่อการใช้งานตาม Category เช่น จัดการของในตู้เย็นด้วยการกำหนดที่วางตามความถี่ในการหยิบมาใช้ การเรียงตามวันหมดอายุก่อน-หลัง เพื่อให้บริโภคได้ทัน หรือการหาที่จัดระเบียบตู้เย็นมาใส่ มีการใส่วัตถุดิบในกล่องใส่เก็บอาหาร เพื่อให้เห็นของอย่างทั่วถึง ไม่เกิดการลืม หรือซื้อซ้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ การพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่ในมือ ด้วยการไม่ยึดติดกับนิยามเดิม พยายามมองถึงประโยชน์ที่อาจเอาไปใช้ในทางอื่นๆ ได้ ก็ถือเป็นการจัดการสิ่งของในบ้าน และลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เช่น การเอากล่องคุกกี้มาเป็นที่ใส่อุปกรณ์เย็บผ้า หรือเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วแปลงเป็นผ้าขี้ริ้ว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นพลังแห่งการจัดระเบียบ ที่จะสามารถเพิ่มเงินในกระเป๋าให้มากขึ้น และขัดเกลานิสัยการบริหารจัดการเงินอย่างชาญฉลาด อันก่อร่างเป็นความมั่งคั่งทางการเงินให้กับเราได้ในที่สุด
ข่าวเด่น