ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกได้เข้าสู่สภาวะตึงเครียด หลังจากที่ได้เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เชื้อเพลิงและต้นทุนของสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 40 ปีของทางสหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สูงสุดในรอบ 22 ปี เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมยิ่งทวีคูณสูงขึ้นทั่วโลก เกิดการเลิกจ้างงาน ธุรกิจต่างปิดตัวลง การจับจ่ายใช้สอยหดตัวทั่วโลก เนื่องจากต้องเก็บเงินสดไว้กับตัวเอง ไม่กล้าลงทุน ทำให้ตลาดการเงินต่างซบเซา โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเกิดผลกระทบต่อกันเป็นโดมิโน่ ทั้งการเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ อย่างการล้มละลายของบรรดาสถาบันการเงิน หรือประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ด้วยหนี้ก็เกิดการชะลอตัวลง
ความตึงเครียดที่ผ่านมา ทำให้เกิดภัยเฝ้าระวังอย่าง “Recession” หรือการที่เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อตัวเลขการจ้างงานออกมาดีกว่าคาด ณ ขณะนั้น รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้ส่งสัญญาณเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ก็ทำให้ความตึงเครียดเพลาลงไป สินทรัพย์เสี่ยงเริ่มมีทุนไหลเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งของคริปโต ที่ดูจะเป็นขาขึ้นในปีนี้
แต่สุดท้าย สถานการณ์ที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ไม่นาน เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนอิหร่าน ที่เป็นพันธมิตรฝ่ายฮามาส ได้กระโจนเข้ามาเปิดฉากกับอิสราเอลอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ความเสี่ยงของภัยสงครามนี้ อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามทั่วภูมิภาคในตะวันออกกลางได้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมา ย่อมกระทบกับภาคเศรษฐกิจ ที่ตลาดลงทุนจะเริ่มกลับเข้าสู่ความกลัว อีกทั้งเกิดแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากจะต้องรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมั่นคงกว่า
อีกทั้งท่าทีของทาง Fed จากที่เคยให้สัญญาณว่า จะคงค้างอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงที่ 5.25-5.50% ไว้จนถึงกลางปีนี้ และเริ่มลดไตรมาส 2 เป็นเพราะเฝ้าระวังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส แต่เมื่อตอนนี้อิหร่านเข้ามาตอบโต้เอง กลายเป็นสงครามทางตรงระดับใหญ่ ทำให้นักลงทุนต่างคาดกันว่า Fed อาจทำการเลื่อนลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก จากเดือน มิ.ย. สู่เดือน ก.ย. จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้น
แนวโน้มตรงนี้เอง เป็นปัจจัยที่กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า (ล่าสุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.89 บาท/ดอลลาร์ เป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน) และเกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอลลาร์จะยังคงแข็งค่าขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่จากสถานการณ์สงครามตะวันออกกลาง เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจทั่วโลก ต้องเผชิญเข้ากับสภาวะถดถอยอีกครั้ง ซึ่งได้เกิดแรงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยที่สุดอย่างทองคำเข้ามา จนมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไปแตะอยู่ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ อีกทั้งธนาคารกลางทั่วโลก ก็มีการตุนทองคำเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีมานี้ มูลค่าของทองคำที่สูงขึ้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงอำนาจของเงินดอลลาร์ที่ลดต่ำลง (จากกลไกการผกผันของราคาระหว่างทองคำ-ดอลลาร์สหรัฐ) ฉะนั้นแล้วนอกจากจะลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐ ก็ควรพิจารณาแบ่งพอร์ต กระจายการลงทุนไปยังหลุมหลบภัยอย่างทองคำ เพื่อประกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ในตลาดโลกที่มีความผันผวนจากประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว สภาพคล่องทั่วโลกที่ลดลง ฉะนั้นควรคัดเลือกซื้อหุ้นอย่างระมัดระวัง ซึ่งแนะนำว่าควรลงทุนในหุ้นกลุ่มคุณภาพ อย่างบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ทำธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีความสามารถในการบริหารต้นทุน (เช่น ต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ) มีสัดส่วนหนี้ต่ำ หรือมีความสามารถในการชำระหนี้สูง มีผลประกอบการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างชัดเจน ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือเข้ากับ Theme การลงทุนในปีหน้า (เช่น บริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG) เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ควรกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว หุ้นกู้อนุพันธ์ รวมถึงอาจกระจายลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงพิจารณาการเพิ่มรายได้ เช่น การทำงานเสริมตามความถนัด เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงอีกขั้นจากความไม่แน่นอนที่อะไรๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และเพิ่มโอกาสให้เราได้รับผลตอบแทนที่เป็นบวกที่สุด ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อาจกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอยในปัจจุบันนี้
ข่าวเด่น