Special Report : "Fed" ส่งสัญญาณเลื่อนลดดอกเบี้ย หวังแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด


 

จบไปแล้วสำหรับการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมที่ 5.25-5.50% นับว่าเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 และอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 23 ปีเลยทีเดียว โดยทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหตุที่ยังคงค้างอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อยังคงค้างในระดับสูง ซึ่งไม่บรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2% ตามที่ Fed ตั้งเป้าเอาไว้ ทำให้นอกจากจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงแล้ว Fed ก็ยังส่งสัญญาณเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดที่แน่ชัด
 
จากที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดูจะกลับมาเป็นปกติในปีที่แล้ว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็มีการชะลอตัวลงเรื่อยๆ ทำให้ Fed ได้มีการส่งสัญญาณยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา และจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 นี้ (ปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75%) โดยตลาดต่างคาดการณ์กันว่า Fed อาจเริ่มทำการปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกในช่วงกลางปีนี้ หรือเริ่มในเดือน พ.ค. - มิ.ย. ในกรอบของไตรมาสที่ 2/2024
 
แต่สุดท้าย สถานการณ์ที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ไม่นาน เมื่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - กลุ่มฮามาส ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนอิหร่าน ที่เป็นพันธมิตรฝ่ายฮามาส ได้กระโจนเข้ามาเปิดฉากกับอิสราเอลอย่างเต็มรูปแบบ ขยายใหญ่กลายเป็นสงครามระหว่าง อิสราเอล - อิหร่าน อย่างเต็มตัว ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจบานปลายกลายเป็นสงครามทั่วภูมิภาคในตะวันออกกลาง ซึ่งกระทบกับภาคเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ Fed ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว โดยมีแนวโน้มเลื่อนการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปเป็นเดือน ก.ย.ปีนี้

 
 
ดัชนี CPI สูงกว่าคาดการณ์ 4 ครั้งติดต่อกันในปี 2024 จาก Investing.com

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจของ Fed ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ก็ยังเป็นจุดมุ่งหมายหลักของ Fed ที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับที่ 2% ให้ได้ ซึ่งการประกาศหยุดขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปีที่แล้ว เป็นเพราะทิศทางของเงินเฟ้อได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับสูงที่สุด และการจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้จริงๆ Fed ต้องรอดูข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เพียงพอเพื่อให้แน่ใจว่า เงินเฟ้อกำลังมีทิศทางปรับตัวลงไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน แต่ในปี 2024 นี้ อัตราเงินเฟ้อ ที่ดูได้จากดัชนี CPI คงค้างอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังสูงกว่าคาดการณ์ถึง 4 เดือนติดต่อกัน ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของ Fed ได้หยุดชะงักลง  
 
สอดคล้องกับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% บ่งบอกถึงราคาของสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ Fed ได้ส่งสัญญาณที่จะเลื่อนการลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกออกไปอีก และยังเป็นการเลื่อนที่ไม่กำหนดอย่างแน่ชัดว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยตอนช่วงเวลาไหน เพราะในตอนนี้ภาคเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ตัวเลขการจ้างงานก็ยังมีความแข็งแกร่ง ทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงต่อไปก่อน จึงยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในทางลบมากนัก
 
Fed ตรึงดอกเบี้ยครั้งนี้ กระทบกับตลาดสินทรัพย์อย่างไรบ้าง?
 
การที่ Fed ยังคงค้างอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเอาไว้ และบรรดานักลงทุนก็ปรับการคาดการณ์ใหม่ว่า Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็น 1-2 ครั้ง จาก 3 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อไม่ปรับตัวลงมาตามกรอบ ทำให้ช่วงไตรมาสที่ 2/2024 ตลาดหุ้นอาจไม่ได้ทำ Performance ปรับตัวขึ้นได้มากนัก และจากการวิเคราะห์ของ บลจ. กสิกรไทย ก็ได้มองว่า อาจเห็นการพักฐานของหุ้นในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐ และอินเดีย ที่ปัจจุบันระดับ Valuation (Forward P/E) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย ดังนั้นหากตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไปบ่งชี้ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยไม่ได้ในปีนี้ ก็อาจจะทำให้ราคาตราสารหนี้ผันผวนได้
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ Fed ได้ส่งสัญญาณเพิ่มเติมว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ส่วนความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามอิสราเอล - อิหร่านลดลง ล่าสุดทั้งสองฝ่ายพิจารณาการหยุดยิงชั่วคราวและกำลังเข้าสู่การเจรจากับผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ หากความขัดแย้งดังกล่าวคลี่คลายลง อาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อเบาบางลง ซึ่งหนุนให้ Fed พิจารณาเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกก่อนการเลือกตั้งสหรัฐช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้

LastUpdate 05/05/2567 19:31:58 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:16 am