Special Report : "Fed" ส่งสัญญาณเลื่อนลดดอกเบี้ย หวังแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด


 

วนเวียนกลับมาอีกครั้ง สำหรับ Cycle ช่วงขาลงของสินทรัพย์ในตลาดลงทุนอย่าง “Sell in May” หรือมหกรรม On Sale ที่ตลาดทำการลดแหลกแจกแถมสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง หุ้น หรือ เหรียญคริปโต ซึ่งตามสถิติจะเกิดความผันผวนสูงและลงเอยด้วยมูลค่าที่ลดต่ำลงอย่างมากในเดือน พ.ค. ของทุกๆ ปี แต่มาในปี 2024 นี้ การพิจารณาจัดการพอร์ตการลงทุนด้วย Sell in May เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะยังมีปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่ควรเอาเข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อการตัดสินใจลงทุนที่ส่งผลดีที่สุดต่อการสร้างผลตอบแทนที่ดี ด้วยสินทรัพย์ในมือของเรา
 
Sell in May คืออะไร?
 
“Sell in May” เป็นปรากฏการณ์เทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในเดือน พ.ค. ส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ตลาดตกอยู่ในสภาพอารมณ์ของความกลัว เนื่องจากแรงเทขายที่ส่งผลให้คนที่ถือสินทรัพย์นั้นอยู่ต้องการรักษามูลค่าของพอร์ตตัวเองเอาไว้ จึงได้แย่งกระโจนออกด้วยการเทขายตามๆ กัน นอกจากนี้ ยังทำให้ Volume การเข้าซื้อลดลง (ตามหลักแรงขายมากกว่าแรงซื้อ) แม้ราคาจะลดต่ำลงมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้วก็ตาม เนื่องจากโดนปกคลุมด้วยความกลัวว่า ราคาของสินทรัพย์นั้นจะลดลงมาอีก
 
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของ Sell in May ก็ไม่ใช่อาถรรพ์หรือเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด แต่เป็นค่าสถิติที่ในเดือน พ.ค. ของทุกปี จะเป็นเดือนที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ มักจะมีการรายงานผลประกอบการในไตรมาส 1 และมีการคาดการณ์ผลการดำเนินงานทั้งปีเป็นครั้งแรก รวมไปถึงการจ่ายเงินปันผลก็มักจะอยู่ในเดือน พ.ค.เช่นกัน จึงไม่แปลกที่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นตามบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว เมื่อทราบถึงข้อมูลและทิศทางของบริษัทที่ตัวเองลงทุน ก็มักจะมีการขายเพื่อทำกำไร หรือมีการวางแผนด้วยการขายสินทรัพย์ออกไปก่อน และรอจังหวะก่อนจะค่อยเข้าช้อนซื้อภายหลังตามการประเมินข้อมูลที่ได้ในช่วงที่คุ้มค่ามากที่สุดเพื่อทำกำไร เราจึงได้เห็นจำนวน Volume ของการขายสินทรัพย์ที่มีมากเป็นพิเศษนั่นเอง และแน่นอนว่าเมื่อเห็นทิศทางกระแสหลักว่ามีหลายคนได้ขายสินทรัพย์ออกไปเป็น Volume ใหญ่ ๆ ราคาของสินทรัพย์นั้นก็ย่อมมีมูลค่าลดลงเป็นธรรมดาตามกฎของหลัก Demand - Supply เป็นเหตุผลที่ตลาดจะตกอยู่ในสภาวะความกลัว เกิดการ Panic Sell แย่งกันเทขายจนมูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวนั้นยิ่งตกต่ำลงไปอีก และด้วยตลาดลงทุน จะมี Money Flow เชื่อมถึงกันทั้งหมด ทำให้สินทรัพย์ชนิดอื่นๆ ก็มีมูลค่าลดลงทั้งตลาด
 
Sell in May ปี 2024 ไม่เหมือนปีที่ผ่านมา
 
ความพิเศษของ Sell in May ในปีนี้ คือเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ลุกลามเป็นสงครามระหว่าง อิสราเอล-อิหร่าน เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อตลาดโดยตรง เช่น น้ำมัน ทองคำ และสินค้าอุปโภคบริโภค แม้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาการหยุดยิงชั่วคราวและกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณดีว่าความขัดแย้งอาจเริ่มทุเลาลง แต่หากอยากพิจารณาลงทุนอย่างปลอดภัย อาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่ทนทานต่อปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตาม บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ เช่น หุ้นที่อยู่ในกลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม และกลุ่มการแพทย์ โดยช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน พ.ค.เป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาที่ดีในการเข้าซื้อ
 
นอกจากนี้ ในปี 2024 เหตุการณ์ก็ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนช่วงปี 2020 เป็นต้นมา ที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับไวรัส COVID-19 ระบาด ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทุกประเทศได้รับผลกระทบ เช่น ประเทศไทย ที่ GDP ขับเคลื่อนด้วยภาคท่องเที่ยวเป็นหลักนั้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แต่จากแรงส่งของการฟื้นตัว ทั้งภาคการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจาก COVID เบาบางลง ดังที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ตั้งเป้าว่า จะดึงนักท่องเที่ยวได้มากถึง 40 ล้านคน สร้างเม็ดเงินได้กว่า 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2024 นี้ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เป็นบวก ทำให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นจาก Sell in May อาจออกฤทธิ์อย่างจำกัด ไม่รุนแรงเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา เมื่อผนวกรวมเข้ากับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ข้างต้น หากจะลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในช่วง Sell in May ก็อาจพิจารณาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ SET ในกลุ่มที่ทนทานต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจยึดโยงกับภาคบริการในไทย
 
แม้ Sell in May จะเป็นค่าสถิติที่บ่งบอกว่า สินทรัพย์อย่างหุ้นจะมีมูลค่าและให้ผลตอบแทนลดลงตั้งแต่ช่วง พ.ค. - ต.ค. และกลับมาให้ผลตอบแทนสูงสุดเดือน พ.ย. – เม.ย. ตามค่าเฉลี่ยทั้งในดัชนี S&P 500 หรือตลาดหุ้นไทย แต่การพิจารณาข้อมูลเชิงลึก โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐาน ก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเอามาพิจารณาเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการรับมือและบริหารแผนการลงทุนให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก ท่ามกลางสภาวะอารมณ์ของตลาดที่ไม่มั่นคง

LastUpdate 05/05/2567 22:41:52 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:52 pm