Special Report : ไตรมาส 2 ปี 2024 เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง จากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน


 

เข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2024 แล้ว แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่เข้าสู่โซนปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล-ฮามาส ที่ต่อสู้ในลักษณะสงครามตัวแทน ได้ลุกลามจนอิหร่านกระโจนลงมาเข้าร่วมกลายเป็นสงครามอิสราเอล-อิหร่าน นั้น ได้สร้างความตึงเครียดให้กับโลกการเงิน รวมถึงราคาน้ำมัน และสิ่งของอุปโภคบริโภค ที่ส่งผลเป็นโดมิโน่ลุกลามไปทั่วทั้งระบบ
 
ในช่วง เม.ย. หรือเดือนแรกของไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดฉากทำนายสภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เมื่ออิหร่านได้โจมตีอิสราเอลด้วยการยิงจรวดมิสไซล์และโดรนกว่า 300 ลูก เพื่อล้างแค้นที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย ถือเป็นการประกาศศักดาของอิหร่านว่าจะปิดฉากสงครามตัวแทน และก้าวเข้ามาปะทะกับอิสราเอลซึ่งๆหน้า อีกทั้งยังประกาศกลายๆ ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไปอีก 1 ไตรมาส และอาจลุกลามไปยาวนานกว่านั้น ตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แม้จะมีความหวังเล็กๆ ที่ทั้งสองฝ่ายพิจารณาการหยุดยิงชั่วคราวและกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณดีว่าความขัดแย้งอาจเริ่มทุเลาลง แต่สุดท้าย อิสราเอลก็ได้เข้าโจมตีเมืองราฟาห์ที่อยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาหลายครั้ง เพื่อเป้าหมายในการกำจัดกลุ่มฮามาส ส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สร้างความตึงเครียดในกาซา เพราะไม่มีพื้นที่ไหนในกาซาปลอดภัยอีกต่อไป
 
สถานการณ์สงครามที่รุนแรงขึ้นนี้ ย่อมส่งผลกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ในด้านของราคาน้ำมัน ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ตลาดน้ำมันโลก จะอยู่ในสภาวะที่ความต้องการใช้มากกว่ากำลังการผลิต หรือ 0.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 2 นี้อีกด้วย หากไม่ฟื้นตัวก็อาจทำให้ราคาของน้ำมันมีการปรับเพิ่มขึ้น
 
ส่วนด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จากที่เริ่มแรกส่งสัญญาณเริ่มปรับลดครั้งแรกในช่วงไตรมาส 2 นั้น ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามดังกล่าว ที่เลื่อนการปรับลดออกไป แม้จะมีการคาดการณ์ว่า Fed อาจเริ่มดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 นี้ หากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน คลี่คลายลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อเบาบางลง และอาจลดลงใกล้เคียงกับระดับ 2% ตามเป้าหมาย ซึ่งหนุนให้ Fed พิจารณาเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และมีโอกาสดำเนินการก่อนการเลือกตั้งสหรัฐช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้ แต่การโจมตีที่ราฟาห์ล่าสุด ก็ยิ่งเป็นปัจจัยทางลบที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายกางการเงินของทาง Fed ต่อไป ฉะนั้นการที่ยังไม่สามารถมองเห็นถึงโอกาสว่า Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกตอนไหน ก็ไม่อาจเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ที่ยึดโยงทั้งด้าน Money Flow เม็ดเงินลงทุน ค่าเงินในประเทศ และทิศทางการลงทุนที่แน่ชัดได้
 
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 อยู่ที่ 3.2% แต่คาดการณ์ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน เติบโต 4.6% ซึ่งต่ำกว่าที่จีนวางเป้าไว้ที่ 5% อีกทั้ง IMF ยังประเมินว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำจะมีแผลเป็นมากขึ้น โดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ยังคงดิ้นรนจากวิกฤตค่าครองชีพ อย่างที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 2.7% ลดลงจากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ 0.5% 
 
นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่า ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสูง ที่ยังไม่มีกำหนดว่าจะเริ่มปรับลดอย่างเป็นทางการจากทาง Fed เนื่องจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่และครัวเรือนต้องเผชิญกับภาระหนี้สินที่สูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดทางการเงิน และยังเพิ่มภาระหนี้สิน (ที่มักอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในบรรดาตลาดเกิดใหม่ เพราะเงินทุนยังไหลเข้าไปในสหรัฐ จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังคงแข็งค่า ส่งผลเสียต่อตลาดการเงินทั่วโลก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ค. 2567 เวลา : 20:53:03
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:13 am