Special report : "กัมพูชา-จีน" พันธมิตรแน่นแฟ้น ที่สั่นคลอนความสัมพันธ์กับ "อาเซียน"


การสานสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชา-จีน ทั้งทางด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะมีความแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่ากัมพูชาเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดประเทศหนึ่งของจีนเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนใหม่ ของ “ฮุน มาเนต“ ที่หลังจากสืบทอดตำแหน่งจากอดีตผู้นำ ฮุน เซน พ่อของเขาเมื่อปี 2566 ก็ได้ทำการสนับสนุนการกระทำของจีนอย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องของการแผ่ขยายอิทธิพลจีนไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเริ่มสร้างความเคลือบแคลงใจและสั่นคลอนความสัมพันธ์ในอาเซียน ที่กัมพูชาอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความตึงเครียดที่จะรักษาเก้าอี้ในสมาคมนี้เอาไว้
 
อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกก่อตั้งทั้งสิ้น 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความมั่นคง สร้างสันติภาพในภูมิภาค ทั้งเสถียรภาพด้านการเมือง การส่งเสริมการศึกษา สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งต่อมา ก็ได้มีประเทศสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา เข้ามาเป็นลำดับสุดท้ายในปี 2527
 
การพัฒนาความร่วมมือที่ผ่านมานั้น ทั้งอาเซียนก็ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาค และการสานสัมพันธ์กันเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศตลอดมา เช่น ขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศร่วมกัน การพัฒนาการเกษตร หรือการรักษาผลประโยชน์ระหว่างกันในด้านต่างๆ โดยทางกัมพูชา เป็นประเทศที่เกิดสงครามภายในมายาวนานถึงปี 2534 จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มมีการพัฒนาประเทศ ซึ่งในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น กัมพูชาได้รับโอกาสในการฟื้นฟูประเทศอย่างมากในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม ด้านสังคม ที่ได้รับประโยชน์ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยการได้รับโอกาสผ่านแผนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ การเข้าถึงสินค้าและนำเข้าบริการที่ถูกลงและหลากหลายมากขึ้น หรือ ด้านการทูต จากที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับหลายประเทศ ก็สามารถพัฒนาการทูตกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจากับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา
 
เรียกได้ว่า กัมพูชา ได้รับประโยชน์อย่างสูงจากการเข้าร่วมอาเซียนในฐานะรัฐสมาชิก ในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกันกับประเทศสมาชิกอื่นที่ได้พัฒนารุดหน้าไปก่อนแล้ว แต่ความท้าทายของกัมพูชาที่กำลังมีความสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นความขัดแย้งกับอีกหลายๆ ประเทศในอาเซียน คือ พันธมิตรที่กัมพูชากำลังสานสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นด้วยอย่างจีน ประเทศมหาอำนาจฝั่งเอเชียที่กำลังจัดตั้งแผนเพื่อขยายอิทธิพลของประเทศตน ระดมกำลังเพื่อกลายเป็นผู้จัดระเบียบของโลกในยุคต่อไป โดยที่กัมพูชา ก็จัดได้ว่าเป็น 1 ในกองกำลังสนับสนุนของจีนอย่างเต็มตัว นับตั้งแต่การที่กัมพูชาคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อตำหนิจีนในประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างสิทธิรุกล้ำพื้นที่น่านน้ำของประเทศในอาเซียน สร้างความสุ่มเสี่ยงของการครองตำแหน่งเก้าอี้ในอาเซียนมาตั้งแต่สมัยของ ฮุน เซน ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำกัมพูชาในสมัยก่อน
 
จวบจนมาถึงการนำทิศทางประเทศของ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน ที่ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า กัมพูชาจะส่งเสริมโครงการของจีน รวมถึงผลักดันข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งเป็นแผนที่ทำให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปได้ทั่วโลกมากขึ้น ผ่านการให้การสนับสนุนและจัดทำโครงการต่างๆ ให้ ซึ่งโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อคมนาคมทั่วกัมพูชาจำนวนมาก ได้รับการสนับสนุนจากจีน อย่างเช่น การที่จีนลงทุนสร้างทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ระยะทาง 187 กิโลเมตร แลกกับจีนได้สิทธิในการเก็บค่าผ่านทางและบริหารโครงการนี้เป็นเวลา 50 ปี หรือโครงการล่าสุดอย่าง คลองฟูนันเตโช ที่จีนลงทุนขุดเชื่อมระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงกับชายแดนกัมพูชา เพื่อเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าของตนเองโดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำโขงเข้าเวียดนามเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเสี่ยงจุดฉนวนความขัดแย้งระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา จากที่คลองนี้อาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวขนาดใหญ่ที่ช่วยเหลือคนท้ายน้ำในเวียดนาม เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนทิศทางของน้ำ อีกทั้งยังสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับสายตาชาวโลก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ว่าจีนอาจใช้ประโยชน์จากคลองนี้เป็นเส้นทางเคลื่อนเรือรบเข้าประชิดพรมแดนเวียดนาม หนึ่งในประเทศที่มีข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ เพราะได้เห็นตัวอย่างของฐานทัพเรือเรียม ที่ทางการจีนลงทุนในสีหนุวิลล์ ช่วงปลายปี 2566 จีนก็ได้ส่งเรือรบ 2 ลำเทียบท่าฐานทัพเรือเรียมแล้วเป็นที่เรียบร้อย
 
นอกจากนี้ยังมีข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ที่ทางกัมพูชาก็ยังไม่ได้เข้าข่ายวางตัวเป็นกลาง อีกทั้งโครงการคมนาคมทางน้ำที่จีนลงทุนให้ และทางกัมพูชาสนับสนุนด้วยนั้น ก็เอื้อต่อประโยชน์ให้จีนในการเข้าถือครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่ฐานะของสมาชิกในอาเซียนจะเกิดการสั่นคลอน แม้กัมพูชาจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการอยู่ในสมาคมนี้ แต่ประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชาก็ไม่อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียจีนเพื่ออาเซียน เนื่องจากเป็นพันธมิตรที่กัมพูชาพึ่งพิงอย่างมาก ก็คงต้องรอดูนับจากนี้ว่า การวางนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาในอนาคต จะเอนเอียงไปยังทิศทางใดต่อไป หากยังคงเอื้อผลประโยชน์กับจีนต่อไป ก็อาจสร้างความกดดันระหว่างกัมพูชาและอาเซียน ลามไปจนถึงความสัมพันธ์ด้านการทูตที่เกิดผลเสียในภายภาคหน้า

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ค. 2567 เวลา : 20:25:00
กลับหน้าข่าวเด่น
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:40 pm