หากจะกล่าวถึงประเทศมหาอำนาจของโลกในปัจจุบันนี้ สหรัฐอเมริกา และ จีน คงจะผุดขึ้นมาในความคิดของใครหลาย ๆ คน แต่หากนิยามมหาอำนาจที่เป็นผู้ที่วางกติกาโลก และแผ่ขยายอิทธิพลฝังลึกมาอย่างช้านาน ก็คงจะหนีไม่พ้น สหรัฐอเมริกา ประเทศผู้ที่สามารถเอาชนะสงครามโลกถึงสองครั้ง และได้ขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางโลกที่คุมอำนาจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง การเงิน การค้า ภาษา ไปจนถึงอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงที่มีอิทธิพลต่อค่านิยมและความเชื่อ ที่เข้ามาหล่อหลอมและ Blend in ในสังคมทั่วโลก
นอกจากสหรัฐแล้ว ประเทศในแถบตะวันตกด้วยกัน อย่าง สหภาพยุโรป การรวมกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็นับเป็นอีก 1 กลุ่มมหาอำนาจที่มีอิทธิพลระดับโลก โดยเฉพาะ อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่เคยมีการทำสงครามขยายอำนาจไปทั่วโลกในหน้าประวัติศาสตร์ และยังคงวางรากฐานทางอำนาจเอาไว้ เช่น ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือด้านวัฒนธรรม
และหากประเทศมหาอำนาจเหล่านี้มีการรวมกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ทางด้านอำนาจ ก็แน่นอนว่าจะยิ่งเป็นการเสริมกำลังให้ประเทศเหล่านั้นมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก ดังเช่น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก G7 (Group of Seven) ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น มีการผนึกกำลังกันเพื่อกำหนดและเสริมสร้างธรรมาภิบาลโลก สามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังพึ่งพาอาศัยกันในด้านต่าง ๆ เพื่อเกิดความมั่นคงต่อประเทศของตน ซึ่งหากมีกรณีที่ขั้วอำนาจอีกฝั่งมียุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกัน กลุ่ม G7 ก็จะร่วมกันต่อกรกลับไป ด้วยความที่ G7 เป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลก หรือเรียกได้ว่าเป็นประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูง หากจะดำเนินการตอบโต้ประเทศที่มีความคิดตรงข้าม หรือขัดกับหลักการของ G7 ก็มีโอกาสที่ประเทศฝั่งตรงข้ามจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ที่นำโดยสหรัฐ และพันธมิตรชาติตะวันตก ด้วยการทั้งตัดรัสเซียออกจากระบบ Swift (ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศได้) การอายัดเงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่เก็บไว้ในรูปแบบของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐกว่า 11.55 ล้านล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียตกต่ำอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ขนาดประเทศขนาดใหญ่อย่างรัสเซีย ยังขึ้นอยู่กับทางสหรัฐ และกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก คงไม่ต้องพูดถึงประเทศเล็ก ๆ เช่น ประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) หากมีความขัดแย้งกับทางตะวันตก ก็อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรได้ ฉะนั้นการที่ประเทศเรามีการเข้าร่วมผนึกกำลังกับประเทศอื่น จึงเป็นทางออกที่จะเพิ่มความมั่นคงโดยรวมให้กับประเทศได้ ซึ่งขั้วตรงข้ามกับประเทศอุตสาหกรรมที่อยู่มานานแล้วอย่าง G7 ได้แก่ กลุ่ม BRICS เป็นการรวมกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกจาก 4 ประเทศขนาดใหญ่ ประกอบด้วย มหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย อินเดีย และบราซิล ก่อนที่จะเพิ่มสมาชิกใหม่เมื่อช่วงต้นปี 2024 อีก 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ทำให้ขณะนี้ BRICS มีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ
โดยเป้าหมายของกลุ่ม BRICS ก็เพื่อเป็นการคานอำนาจเก่า (สหรัฐและชาติตะวันตก) และนำทัพเป็นกลุ่มมหาอำนาจที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ อย่างในกรณีของจีนที่สามารถใช้ BRICS เพื่อขยายอำนาจและอิทธิพล ส่วนทางรัสเซียก็สามารถใช้ BRICS เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับชาติตะวันตก หลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรในอนาคต ซึ่งทางประเทศไทยเอง เป็น 1 ในกว่า 20 ประเทศที่แสดงความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRICS โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณา หากได้รับการเข้าร่วม ไทยจะกลายเป็นสมาชิก BRICS ประเทศแรกในอาเซียน
โดยการเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS ไทยจะได้รับประโยชน์ เช่น เปิดโอกาสให้ไทยเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น เป็นการขยายตลาด เช่น เรื่องการท่องเที่ยว ก็มีโอกาสนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านวีซ่า เปิดโอกาสทางด้านการลงทุน และทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศทางตะวันตก จากการที่ BRICS จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เตรียมสร้างเงินสกุลของตัวเองที่มีฟังก์ชั่นคล้ายกับยูโรที่ใช้ในสหภาพยุโรป เพื่อคานอำนาจของ World Bank จากกรณีตัวอย่างการโดนคว่ำบาตรของรัสเซีย
แม้ GDP Per Capita หรือรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศกลุ่ม BRICS จะยังน้อยกว่าประชากรในประเทศกลุ่ม G7 แต่ถ้าดูยอด PPP (Purchasing Power Parity) หรืออำนาจกำลังซื้อนั้นแซงหน้ากลุ่ม G7 ไปแล้ว เพราะอย่างประเทศจีน และอินเดีย ที่อยู่ในกลุ่มประเทศ BRICS ก็มีกำลังซื้ออยู่ที่อันดับ 2 และ 3 ของโลก ซึ่งรวมกันแล้วก็ถือว่ากำลังซื้อนั้นมากกว่า 31.5% เทียบกลับกลุ่มประเทศ G7 มีกำลังซื้อคิดรวมเป็นสัดส่วน 30% เท่านั้น นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก สัดส่วน 45.5% สะท้อนถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกับประโยชน์ด้านการส่งออกอย่างยิ่งยวดของไทย ดังตัวอย่างการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS ในปี 2566 มีมูลค่า 57,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 20.1% ของการส่งออกทั้งหมด มีการขยายตัว 0.4 % สวนทางกับการส่งออกในภาพรวมที่ชะลอตัวลง 1.0 %
ข่าวเด่น