Scoop : "Work ไร้ Balance" ค่านิยมทำงานหนักของไทย ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คิด


 

วัยทำงาน เป็นอีก 1 พาร์ทใหญ่ของชีวิต ที่มนุษย์ทุกคนจะได้ลงสนามไปเผชิญและรับมือกับความรับผิดชอบต่าง ๆ ด้วยตนเอง หลังจากที่ได้รับการฝึกฝนในพาร์ทของชีวิตวัยเรียนไปแล้ว ซึ่งการก้าวเท้าออกมาจากครอบครัว หรือออกจาก Safe Zone และเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง สิ่งที่ต้องคำนึงมาเป็นอันดับ 1 ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือเรื่องของ “เงิน” เพราะเชื้อเพลิงที่หล่อเลี้ยงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งอาหาร การรักษา ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต่างก็ต้องอาศัยเงินทั้งสิ้น ความจริงตรงนี้ทำให้ปัจจัยของค่าแรง มักจะถูกจัดลำดับความสำคัญ มากกว่าความชอบ หรือการเลือกทำตามสิ่งที่ใจรัก โดยเฉพาะในประเทศที่มีสวัสดิการสังคมที่มีการช่วยเหลือไม่เพียงพอหรือไม่ครอบคลุมที่จะให้คนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
 
โดยในบริบทของประเทศไทยเรานั้น ยังจัดว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา มีภาคเกษตรกรรมกินสัดส่วนใหญ่ใน GDP ของประเทศ ฉะนั้นแล้วฐานะทางเศรษฐกิจจึงยังไม่เจริญเทียบเท่ากับประเทศอุตสาหกรรม หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งยังมีสวัสดิการที่ไม่ได้สนับสนุนเพียงพอที่จะเลี้ยงดูคนในประเทศได้ครอบคลุม ดังนั้นด้วยสถานการณ์ทางสังคมในประเทศ จึงได้หล่อหลอมให้วัฒนธรรมการทำงานของไทย เป็นไปในลักษณะของการทำงานที่ค่อนข้างหนัก เพื่อแข่งขันในการทำผลงาน สร้างโปรไฟล์ที่ดี เพื่อการประเมิน KPI ขยับตำแหน่ง หรือฐานเงินเดือน สิ่งนี้ได้หล่อหลอมให้เกิดสังคมการทำงานที่มักจะมีเนื้องานสุมเข้ามาอยู่ตลอด จนต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องเอางานมาทำที่บ้าน บางทีวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่พ้นวันที่เราลางาน ก็มักจะมีงานเข้ามาให้ทำอย่างช่วยไม่ได้  
 
อีกทั้งในประเด็นของอัตราค่าแรงที่ต่ำ หากอยากจะได้เงินเพิ่ม ก็ต้องทำโอที หรือรับงานเสริมเพิ่มเข้ามาจากงานหลัก ค่านิยมการทำงานของไทยในลักษณะนี้ ทำให้การแบ่งเวลาไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ และพักผ่อนให้เพียงพอตาม Work Life Balance แทบจะมีไม่เพียงพอสำหรับวัน ๆ หนึ่ง เช่น การแบ่งเวลา 8-8-8 สำหรับพักผ่อน 8 ชั่วโมง สวมบทบาทชีวิตวัยทำงาน 8 ชั่วโมง และให้เวลาไปใช้ชีวิตกับสิ่งที่ชอบ 8 ชั่วโมง แต่ด้วยลักษณะการทำงานของไทย กลับทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง กลายเป็น Work ไร้ Balance ที่พาร์ทการทำงานกินเวลาเป็นหลัก ตามการจัดอันดับ Best and Worst Cities for Work Life Balance ปี 2022 โดย Kisi ได้ระบุว่า คนไทยถือว่ามีแรงงานที่ทำงานหนักที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกเลยทีเดียว
 
การใช้แรงกายแรงใจเต็มที่กับเนื้องาน ทำให้เกิดความเมื่อยล้า และอยากพักผ่อนเพื่อชาร์จพลังงานของตัวเอง เก็บสะสมไปใช้กับการทำงานต่อในวันจันทร์ ทำให้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หากไม่ได้ทำงานเสริม ส่วนใหญ่แล้วคนไทยก็มักจะทำกิจกรรมที่ออกแรงน้อยสุด หรือไม่ก็พักผ่อนอยู่บ้านเฉย ๆ ไปเลย สาเหตุนี้ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าที่คิด ทั้งเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยในลักษณะของการเดินทางออกมาทำงานอดิเรก เช่น ออกมาดูงานพิพิธภัณฑ์ ออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดในวันหยุด เป็นต้น ซึ่งเมื่อคนออกมาใช้ชีวิตน้อยลง ชอบอยู่บ้าน หรือในสภาพแวดล้อมใกล้ที่อยู่ตัวเองนิ่ง ๆ มากกว่า ก็ก่อให้เกิดการขยายตัวของสังคมคนโสดมากขึ้น เพราะไม่มีโอกาสพบเจอผู้คน แม้จะเป็นวันทำงาน แต่ด้วยการทำงานล่วงเวลา หรือการใช้ร่างกายอย่างเต็มที่ (ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ค่าเฉลี่ยคนโสดทำงาน 42.3 ชั่วโมง/สัปดาห์) ก็มีแนวโน้มที่อยากจะเอาตัวเองกลับบ้านให้เร็วที่สุดมากกว่าการสานสัมพันธ์กับคนภายนอก ซึ่งสังคมคนโสดที่ขยายตัวนี้เอง สัมพันธ์กับเรื่องของสังคมผู้สูงอายุที่จะขยายตัวเพิ่มตามไปด้วย เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยน้อยลง รัฐต้องรับภาระกับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น และต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้ แต่ด้วยแรงงานรุ่นใหม่กลับไม่เพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่ระบบ เกิดการขาดแคลนแรงงานมาพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และทำให้การเก็บภาษีรายได้น้อยลงเนื่องจากมีวัยผู้สูงอายุซึ่งไม่มีรายได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น
 
ดังนั้นค่านิยม Work ไร้ Balance ที่แรงงานไทยมีทัศนคติที่ต้องทำงานให้หนักเข้าไว้ ไม่กลับบ้านตามเวลาเลิกงาน การโทรตามงานในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นเรื่องปกติ จึงเรียกได้ว่าเป็นค่านิยมที่ขโมยทั้งชีวิต และฉุดรั้งการพัฒนาประเทศซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่านิยมนี้ได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มิ.ย. 2567 เวลา : 20:10:14
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:19 am