สำหรับความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทย-จีนนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าฝั่งของไทยเราเป็นฝ่ายขาดดุลทางการค้า และมีทิศทางที่จะขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากกรณีที่สินค้าจีนได้ทะลักเข้าสู่ไทย โดยเฉพาะในปี 2024 นี้ ที่ทางจีนได้เดินเกมการส่งออก เป็นตัวหลักขับเคลื่อนเพื่อให้ GDP ประเทศเติบโตตามเป้า 5% หลังจากเศรษฐกิจจีนได้ซบเซาลงไปด้วยปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่นอกเหนือจากรายการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทะลักเข้าไทยมามากที่สุดแล้ว กำลังจะมีสินค้าอีก 1 หมวด ที่จะเข้ามาทุ่มลงในตลาดไทยด้วยความได้เปรียบทางด้านราคาอันส่งผลกระทบต่อธุรกิจในไทยก็คือ “รถยนต์ EV”
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการพัฒนามาสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV เพิ่มเข้ามา ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ที่จะเข้ามาแบ่งส่วนตลาดกับรถยนต์สันดาป และมีโอกาสที่จะ Disruption รถยนต์ประเภทเก่าในอนาคต แต่หากมองในบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงปัจจุบันนี้ ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่เข้ามาตีตลาดไทย แต่บริษัทผู้ผลิตรถ EV สัญชาติจีนตอนนี้ มีกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งไทยจัดเป็นตลาดสำคัญที่จะระบายสินค้าออกไป ด้วยกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน กำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังการผลิตเกินบริโภค กล่าวคือ มีความต้องการซื้อน้อยกว่าปริมาณการผลิตที่ได้ สาเหตุหลักคือกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนนั้นลดลง อ้างอิงจากการประเมินของ KKP Research รายงานว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว คนในประเทศมีความต้องการซื้อรถยนต์ที่เป็นสินค้าใหญ่น้อยลง เนื่องจากต้องการรักษาความมั่นคงทางสถานะทางการเงินของตัวเอง (เห็นภาพได้ชัดเจนจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวไทยน้อยลงในปีนี้ แม้จะมีฟรีวีซ่าก็ตาม) แต่ในขณะเดียวกัน สายพานการผลิตรถยนต์ EV ของค่ายจีนยังดำเนินต่อไป ซึ่งตรงนี้เองเป็นส่วนที่กดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น
ฉะนั้นแล้ว ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการระบาย สต็อกรถ EV ของจีน อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังต้องเผชิญเข้ากับอุปสรรคที่ไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกได้ง่ายนัก เพราะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังมีการแบ่งขั้วอำนาจกันระหว่างจีนกับสหรัฐและโลกตะวันตก ทำให้มีการกีดกันทางการค้าที่มีต่อสินค้าจีนรุนแรงขึ้น และทางด้านยุโรปเอง คณะกรรมาธิการกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อีซี ได้ประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศจีน ในอัตราภาษี 21% - 38.1% โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. นี้ เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดรถ EV จีนที่ขายในสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 8% จากเดิมต่ำกว่า 1% ในปี 2019 ด้วยกลยุทธ์ทางด้านราคา ที่รถ EV จากจีน มีราคาถูกกว่ารถ EV ยุโรป 20% มาตรการกีดกันทางการค้าครั้งนี้เอง จึงเกิดขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของกลุ่มในประเทศพวกเขา
ตรงข้ามกับประเทศไทย ที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อรถ EV อีกทั้งไทยยังเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน ผ่าน China-ASEAN FTA ที่ยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ปัจจัยนี้เองจึงเป็นประตูที่เอื้ออำนวยให้รถ EV ของจีนทะลักเข้ามายังไทยเพิ่มมากขึ้น และใช้ความได้เปรียบด้านราคาเข้ามาเจาะตลาด เช่น ค่ายรถ EV ของจีนค่ายหนึ่งได้มีการลดราคาลงไปกว่า 300,000 บาท จากราคาเต็มของปลายปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของภาคการลงทุน ที่มีผู้ผลิตรถยนต์ EV ชั้นนำของจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นดีลที่ไทยตั้งความหวังว่า ประเทศของเราจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกได้
แต่ลักษณะการลงทุนนั้น ไม่เหมือนกับช่วงที่ยานยนต์ของญี่ปุ่น ลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะการเข้ามาของทุนจีนในปัจจุบันเป็นไปเพื่อใช้กำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาดภายในประเทศไทยมากกว่า และจากนโยบายสนับสนุนรถ EV ในปัจจุบัน ก็ยังเอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิตรถ EV ลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาป และหากพูดถึงการส่งออก ไทยยังต้องแข่งกับจีนโดยตรงในตลาดต่างประเทศ จากการที่ผู้ประกอบการจีนมีการส่งออกและเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ โดยตรง กดดันให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีขนาดเล็กลง ทำให้โอกาสสำหรับไทยในการเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์ EV มีความยากมากขึ้น
ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ หากทางภาครัฐยังเลือกที่จะนำภาษีประชาชนไปอุดหนุนรถยนต์ EV ก็จะยิ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้รถ EV จีนทะลักเข้าไทยมามากขึ้น กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และมีโอกาสส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจในระยะยาว
ข่าวเด่น