สินค้านำเข้าจากจีน นับเป็นปัญหาสำคัญต่อผู้ประกอบการชาวไทย และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศอย่างยิ่งยวด เพราะปริมาณของสินค้าที่ทะลักเข้ามาจำนวนมาก จนทำให้ผู้ทำธุรกิจชาวไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนสินค้า และทำให้ไทยขาดดุลทางการค้ากับจีนสูงเป็นประวัติการณ์ แม้ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษา มีประกาศตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า หรือ VAT 7% กับสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท (มีผลวันที่ 5 ก.ค.-31 ธ.ค.2567) ไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงกำแพงด่านแรกที่ไทยเพิ่งจะเริ่มมีมาตรการปกป้องการค้าในประเทศ และทางจีนเองก็มีความได้เปรียบที่มีกำลังการผลิตสูงและต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยอยู่แล้ว ฉะนั้นสินค้าจีนอาจสามารถทำการกดราคาให้ต่ำลงไปอีก เพื่อประโยชน์ด้านการครองตลาดสินค้าในไทย ด้วยความได้เปรียบทางด้านราคาถูก
โดยรูปแบบในการส่งออกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยและพยายามช่วงชิง Market Share อันดับ 1 จากผู้ประกอบการในประเทศนั้นมีอยู่หลากหลายกลยุทธ์ แต่ที่ยอดนิยมที่จีนชอบใช้ที่สุด คือ “การทุ่มตลาด” หรือ Dumping เป็นการส่งออกสินค้าจากประเทศหนึ่ง ไปสู่ประเทศเป้าหมาย ด้วยการกำหนดราคาสินค้าที่ต่ำกว่าตลาดประเทศนั้นเพื่อขจัดคู่แข่ง และก้าวเข้ามาครองตลาดในประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อประเทศที่โดนทุ่มตลาด ทั้งในแง่ของการผูกขาดสินค้า ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่มีอำนาจในการต่อรอง เพราะไม่เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าจากผู้ขายรายเดียว และยังส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ เพราะการซื้อสินค้านำเข้า เท่ากับว่าเงินในประเทศได้รั่วไหลออกไปข้างนอก ไม่ใช่เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จริงอยู่ที่การนำเข้าส่งออกเป็นเรื่องปกติ แต่ในบริบทระหว่างไทย-จีนนั้น ไทยอยู่ในฝ่ายขาดดุลทางการค้า อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2566 การค้าไทย-จีน มีมูลค่ารวม 3.64 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.29 ล้านล้านบาท ส่วนช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-จีน มีมูลค่า 601,049.53 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 282,071.73 ล้านบาท
ปัจจัยสนับสนุนให้สินค้าจีนทะลักเข้ามายังไทย
หากสังเกตดี ๆ ในชีวิตประจำวันของเราสามารถพบเจอสินค้าจีนได้ทั่วไป ไล่ไปตั้งแต่ สินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายอยู่ตามช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีแพลตฟอร์มซื้อขายสัญชาติจีนคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ผลิตสินค้า และผู้ขายชาวจีน ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้าคนไทยได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และยังได้เปรียบทั้งค่าขนส่งสินค้า ที่การส่งสินค้าจากจีนถึงมือผู้บริโภคในไทย มีราคาที่ถูกกว่าการส่งจากโกดังในไทยด้วยกัน ตามข้อตกลงเมื่อ 50 ปีก่อน ของสมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากล (UPU) ที่ตกลงว่า ประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยในช่วง 50 ปี ณ ขณะนั้น จีนยังถือว่าเป็นประเทศยากจน ไทยจึงต้องเสียค่าจัดส่งมากกว่าจีน และยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-จีน หรือ FTA ที่เปิดเสรีด้านสินค้า (Goods) ด้านบริการ (Service) และการลงทุน โดยมีการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่ม ทำข้อตกลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0% ซึ่งเป็นดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อในแง่ของสินค้าที่มีโครงสร้างเหมือนกัน จะกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าไปโดยปริยาย อีกทั้งจีนมีความสามารถในการกดต้นทุนได้ต่ำกว่า ฝ่ายเสียเปรียบจึงเป็นฝั่งไทยโดยไม่ต้องสงสัย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดของสินค้านำเข้าจีน อย่างการเปิดเป็นรูปแบบร้านเชิงพาณิชย์ เช่น ธุรกิจเฟรนไชส์ร้านไอศกรีม และร้านไก่ทอดจากประเทศจีนที่ขายในราคาที่ถูกมาก แม้จะอยู่ในโลเคชั่นที่มีราคาค่าเช่าแพงก็ตาม แต่กลับสามารถกดราคาให้ต่ำกว่าร้านของไทยที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงแรก ทางแบรนด์ไม่คิดจะเอากำไรเลย และเน้นยอดขายขาดทุน แต่สิ่งที่ได้รับกลับมา คือ จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะความได้เปรียบด้านราคา มีการบอกต่อขยายเป็นวงกว้าง จัดเป็น Earn Media ที่ไม่ต้องลงทุนสื่อสารทางการตลาดมากนัก และพอร้านได้เข้ามาอยู่ในกระแสแล้วอย่างในปัจจุบัน ก็เปิดขาย Franchise ซึ่งตรงนี้เองทางแบรนด์จะได้มาซึ่งเงินทุนที่มากพอเพื่อนำมาจัดระบบ Supply Chain ที่มีอำนาจต่อรองมหาศาล เพราะสามารถใช้โมเดล Economies of Scale หรือการสั่งวัตถุดิบได้ครั้งละจำนวนมาก ๆ (ขาย Franchise ได้ทั่วโลก) ทำให้ต้นทุนถูกลง และสุดท้ายแบรนด์ก็สามารถขายได้ในราคาถูกและยังได้กำไรที่มากขึ้นอีกด้วย
ความน่ากลัวก็คือ หากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และลดอิทธิพลการค้าของจีน ถ้ายังมีผู้ประกอบการชาวจีนใช้โมเดลธุรกิจข้างต้นเข้ามาเปิดร้านในไทยมากกว่านี้ เราอาจได้รับความเสี่ยงทั้งทางด้านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสูญเสียอำนาจต่อรองด้านผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ลุกลามไปสู่ภัยคุกคามความมั่นคงของไทยได้
ข่าวเด่น