การทำ Feasibility Study คือ “การศึกษาความเป็นไปได้” ของธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ว่าเหมาะสมที่ดำเนินการจริงหรือไม่ โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจที่จะทำ ซึ่งต้องนำปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพรวมการตลาด การเงิน การบริหารจัดการ ประเด็นทางสังคม กฎหมาย สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เข้ามาวิเคราะห์ร่วมกับแผนธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้เห็นภาพและตัดสินใจได้ว่า ควรจะเดินหน้าต่อ หรือควรจะหยุดไว้เพียงแค่นี้
หากจะขยายความให้เข้าใจมากขึ้น Feasibility Study ก็เปรียบเสมือนกับการ “ลองเจ๊ง” บนกระดาษก่อนที่จะลงมือทำธุรกิจจริง เพราะเมื่อเราตรวจสอบและวิเคราะห์ทุกแง่มุมที่อาจส่งผลต่อธุรกิจที่คิดว่าจะทำ หากสรุปผลมาได้ว่าธุรกิจนั้นมันไม่สามารถทำได้ เช่น มีความต้องการไม่เพียงพอ ขาดกำลังผลิต หรือไม่สามารถไปจุดที่คุ้มทุนได้ การเห็นภาพชัดเจนบนหน้ากระดาษดังกล่าว จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ มากกว่าการลงมือทำเลย โดยยึดแผนธุรกิจของตัวเองเพียงอย่างเดียว
โดย Feasibility Study จะมีการนำปัจจัยเข้ามาวิเคราะห์หลากหลายด้านด้วยกัน แต่หลัก ๆ จะประกอบด้วย
1. ด้านการตลาด (Market Feasibility) วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในแง่การตลาด ด้วยการศึกษาความต้องการในตลาด หากลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาเป็นใคร การแข่งขันเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าความต้องการเพียงพอสำหรับธุรกิจเราไหม มีโอกาสในการทำกำไรหรือไม่ ต้องทำการตลาดรูปแบบไหน มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
2. ด้านการเงิน (Financial Feasibility) วิเคราะห์งบประมาณที่ต้องใช้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้น รายได้ที่คาดว่าจะได้รับ และผลตอบแทนการลงทุน (ROI) เพื่อประเมินจำนวนเงินลงทุนที่ต้องใช้ และประเมินการบริหารกระแสเงินสด
3. ด้านเทคนิค (Technical Feasibility) ตรวจสอบความเป็นไปได้ทางเทคนิคหรือด้านการผลิต เช่น เริ่มจากการศึกษากระบวนการผลิตสินค้า วัสดุอุปกรณ์ Supplier รวมถึงความชำนาญที่จำเป็นในการดำเนินงาน เพื่อวิเคราะห์ถึง คุณภาพ ปริมาณ ราคา และระยะเวลาที่ผลิต เพื่อดูว่าสามารถทำได้จริงไหม และเหมาะกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
4.ด้านกฎหมายและการบริหารจัดการ (Legal and Operational Feasibility) ตรวจสอบความเป็นไปได้ในเชิงกฎหมาย ด้วยการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้ครอบคลุม เช่นการตั้งชื่อ จดทะเบียนการค้า ใบอนุญาตหรือข้อบังคับต่าง ๆ และวางแผนประเมินความสามารถในการบริหารจัดการของธุรกิจ
ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเปิดร้านกาแฟในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องเริ่มจากการศึกษาตลาด Market Feasibility ผ่านการสำรวจตลาดในพื้นที่ว่ามีคนเดินผ่านไปมามากน้อยแค่ไหน เป็นย่านที่มีการค้าขายหรือไม่ มีลูกค้ากลุ่มไหนที่มักมาใช้บริการในพื้นที่นี้ เช่น นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ หรือคนท้องถิ่น เมื่อเจอเป้าหมายแล้ว ก็ต้องศึกษาว่าความต้องการของลูกค้า ว่าต้องการอะไรจากร้านกาแฟ ผ่านการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ หรือดูรีวิวของร้านกาแฟในละแวกเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์คู่แข่งร้านอื่น ๆ ด้วยว่า มีข้อดีข้อเสีย เพื่อเอามาพัฒนาในร้าน เช่น บรรยากาศดี แต่กาแฟไม่อร่อย หรือร้านมีความ Specialty เลือกชนิดกาแฟไม่เป็น เราก็อาจดีไซน์ประสบการณ์ร้านที่ให้บรรยากาศอบอุ่น บาริสต้าเป็นกันเอง แนะนำกาแฟให้ลูกค้าได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องศึกษาแนวโน้มของตลาดด้วยว่า มีการเติบโตของตลาดกาแฟในพื้นที่นี้หรือไม่ เป็นต้น
ต่อมาก็ดูความเป็นไปได้ทางการเงิน Financial Feasibility ผ่านการคำนวณต้นทุนเริ่มต้น (Initial Costs) หรือต้นทุนทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นร้านกาแฟ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าตกแต่งร้าน ค่าอุปกรณ์ ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน รวมถึง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าโฆษณา ค่าใบอนุญาต เป็นต้น จากนั้นคำนวณรายได้ที่คาดหวัง (Expected Revenue) ที่คาดว่าจะได้รับจากการขายกาแฟและสินค้าอื่น ๆ โดยกำหนดราคาเมนูกาแฟและสินค้าต่าง ๆ ในร้าน คาดการณ์จำนวนลูกค้าที่จะเข้าร้านต่อวัน คำนวณยอดขายต่อวัน เดือน ปี และคำนวณในส่วนของกำไรและขาดทุน (Profit and Loss): เปรียบเทียบรายได้ที่คาดหวังกับต้นทุนต่าง ๆ ที่กล่าวมา และกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะคืนทุน (Payback Period)
หลังจากนั้น ตรวจสอบความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการผลิต Technical Feasibility เช่น ความพร้อมทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์ ที่ตรวจสอบว่ามีเครื่องชงกาแฟและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ใน Budget ที่กำหนด พิจารณาถึงการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมอุปกรณ์ในอนาคต การวิเคราะห์ว่ามีพื้นที่เพียงพอ ในการรองรับลูกค้าทุกช่วงหรือไม่ พื้นที่ในการจัดวางอุปกรณ์ เหมาะสมสำหรับ Flow การทำงานของลูกจ้างในร้านไหม หรือตรวจสอบว่าซัพพลายเออร์ในการส่งวัตถุดิบ เช่น เมล็ดกาแฟ ขนมในร้าน และอื่น ๆ ถึงความน่าเชื่อถือ ความสม่ำเสมอ และระยะเวลาการขนส่ง เป็นต้น
สุดท้าย ตรวจสอบด้านกฎหมายและการดำเนินงาน Legal and Operational Feasibility เช่น ใบอนุญาตเปิดร้าน การขออนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงพิจารณากฎระเบียบเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในร้าน จากนั้นศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการร้าน เช่น การจัดการเวลาทำงานของพนักงาน การจัดการสต็อกสินค้า และการจัดการบัญชี เพื่อดูว่าการดำเนินงานของร้านเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่
จะเห็นได้ว่า การทำ Feasibility Study ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมของการทำธุรกิจที่ครอบคลุม ซึ่งช่วยในการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะตัดสินใจลงทุนจริง ซึ่งคล้ายกับการทดสอบ Model ของธุรกิจตัวเองก่อนในหน้ากระดาษ ที่ถ้าหากทดลองดูแล้ว ผลลัพธ์ออกมาบอกว่าธุรกิจนี้ไปต่อได้ ก็จะช่วยให้การสร้างธุรกิจใหม่ของเรามีโอกาสเติบโตอย่างมั่นคง แต่ถ้าผลลัพธ์บอกว่า “เจ๊ง” มันก็เป็นเพียงการ “เจ๊งในกระดาษ” ที่เรายังมีจุดกลับตัวทันในการยกเลิกโครงการดังกล่าว หรือปรับแผนเพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ
ข่าวเด่น