จากการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในฝั่งสังคมไทย ที่ได้ขับเคลื่อนจนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานเพศเดียวกัน ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ที่ไทยได้กลายเป็น Friendly Destination ของกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น อีก 1 ตัวแปรสำคัญที่ได้ถักทอความสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกด้านความหลากหลายทางเพศ จนทำให้ต่างชาติอยากมาทำความรู้จักประเทศของเรามากขึ้น คือ อุตสาหกรรมความบันเทิงอย่าง “ซีรี่ย์วาย” ที่ครองใจคนทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ซีรี่ย์วาย คือ ซีรี่ย์ที่นำเสนอรูปแบบความรักผ่านตัวละครเพศเดียวกัน เช่น BL (Boy’s Love) ความสัมพันธ์ชาย-ชาย และ GL (Girl’s Love) ความสัมพันธ์หญิง-หญิง ซึ่งทลายกำแพงรูปแบบความรักที่จำกัดเพียงแค่ชาย-หญิง ผ่านหน้าจอสื่อบันเทิงที่ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งด้วยความเปิดกว้างของสังคมไทยเป็นทุนเดิม และการพัฒนาธุรกิจสื่อบันเทิงด้วยการนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ โดยการสร้างสรรค์เนื้อเรื่องในรูปแบบซีรี่ย์วายมากขึ้น ก็ทำให้ได้รับกระแสความนิยมอย่างล้นหลาม ตั้งแต่คนในประเทศ ลามไปจนถึงต่างประเทศผ่านสื่อออนไลน์ ที่สามารถตีตลาดได้ทุกเพศและแทบจะทุกวัย ผ่านอิทธิพลของสื่อ หรือ Soft Power ที่ทำให้พวกเขาเริ่มเปิดรับถึงความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการชอบพอในตัวนักแสดง จนเกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า “แฟนด้อม” เป็นตลาดสำคัญ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านสื่อบันเทิง และธุรกิจท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
แฟนด้อม เป็นกลุ่มแฟนคลับที่รวมตัวกันจากความชื่นชอบในตัวนักแสดง ซึ่งซีรี่ย์วายของไทย มีโมเดลธุรกิจที่ต่อขยายจากการผลิตซีรี่ย์ ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับผู้ชม หรือที่เรียกว่า “การสร้างฐานแฟนคลับ” โดยจะเน้นโปรโมทนักแสดงแบบคู่ ที่เรียกว่า “คู่จิ้น” และขยายไปยังธุรกิจประเภทอื่น ๆ ได้ไม่รู้จบ เช่น การจัดแสดงคอนเสิร์ต ธุรกิจโฆษณา หรือจับกับธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น การ Tie in สินค้าในซีรี่ย์ การจัดแฟนมีทติ้งให้มาหานักแสดงได้ หรือการผลักดันตัวนักแสดงให้กลายเป็น Brand Ambassador ของแบรนด์เนมระดับโลก ซึ่งจัดเป็น Soft Power ที่สามารถเชื่อมโยงความเป็นไทยออกสู่สายตาชาวโลก ด้วยการแผ่ขยายอิทธิพลจากตัวของนักแสดงเอง
โดยนอกจากเรื่องการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ ที่จะทำให้ไทยเกิดมุมมองที่ดีในสายตาต่างชาติแล้ว หากพวกเขาเกิดความชื่นชอบและผูกพันในตัวนักแสดง ตามเป้าหมายของโมเดลธุรกิจดังกล่าว พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะอยากมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซื้อสินค้าไทย เปิดรับสื่อของไทยมากขึ้น และกลายเป็นคนซัพพอร์ต หรือ PR ประเทศไทยในด้านดี ๆ เลยก็ย่อมได้ เนื่องจากการต่อยอดให้นักแสดงกลายเป็น Influencer ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อแฟนคลับ ทั้งพื้นฐานอย่างการเป็นนักแสดงคนไทย มีวิถีชีวิต ความชอบ ทัศนคติแบบไหน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างชอบรับประทานอะไร ก็ส่งผลดีเข้าสู่ประเทศไทยได้ทั้งนั้น โดยสามารถต่อยอด และสร้างแรงกระเพื่อมออกไปสู่ธุรกิจประเภทอื่นได้อีก เช่น การส่งออกสินค้าไทย ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ การตามรอยสถานที่ถ่ายทำ สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนต่างจังหวัด อุตสาหกรรมเพลง T-Pop งานเขียนนิยายหรือวรรณกรรมของไทย และอื่น ๆ อีกมากมาย
และจากข้อมูลของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลวิเคราะห์ของธุรกิจผลิตภาพยนตร์ในไทยว่า มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด นับจากช่วงการฟื้นตัวของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในปี 2566 มีธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 137 ราย ทุนจดทะเบียน 258 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ถึง 20% และปี 2567 ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) มีจำนวน 56 ราย เติบโตขึ้น 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และทุนจดทะเบียน 195.18 ล้านบาท เติบโตขึ้น 146.44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจที่ 32.50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามการเติบโตของสื่อดิจิทัลและธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะทางฝั่งของอุตสาหกรรมซีรี่ย์วายที่จะขยายวงกว้างกว่าเดิม นับเป็นหนทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ดีอีก 1 ช่องทางสำคัญ ที่สามารถส่งเสริมและผลักดันธุรกิจประเภทอื่น ๆ ในประเทศได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เอง ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมซีรี่ย์วายไทย และให้การสนับสนุนการทำธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตซีรี่ย์วาย รวมถึงอุตสาหกรรมหนังไทยให้มีความสะดวกในดำเนินธุรกิจ การจับคู่ธุรกิจ การเสนอขายซีรี่ย์ให้แก่ตลาดต่างประเทศ พร้อมเชื่อมโยงสินค้าและบริการของไทยให้แทรกซึมอยู่ในเนื้อหาของซีรี่ย์วาย เพื่อผลักดันให้ความเป็นไทยกลายเป็น Soft Power ที่ครองใจคนทั่วโลก เป็นคลื่นลูกใหม่ที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น