สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชน ที่ตามแผนดำเนินการเดิม คาดว่าจะเริ่มภายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 5 ต่อ 4 ตุลาการเสียงข้างมากให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้ทั้งครม. พ้นจากตำแหน่งยกคณะ และต้องยุติการทำงานทันที ซึ่งก็ส่งผลให้นโยบายเรือธงของรัฐบาลเศรษฐาดังกล่าวหยุดชะงักลงชั่วคราว และต้องรอลุ้นกันต่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะหาทางออกเรื่องนี้ได้อย่างไร
โดยล่าสุดนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีมติอย่างท้วมท้น แต่งตั้งให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นี้ คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 20 วัน โดยหลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จะเข้าสู่การตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยการจัดประชุมพรรคร่วมรัฐบาลจัดสรรโควตาตามสัดส่วน สส.ของแต่ละพรรค จากนั้นส่งรายชื่อครม.ที่ได้ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และนำรายชื่อขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อเป็นรัฐมนตรี สุดท้ายจะมีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ถึงจะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ต่อรัฐสภาว่า มี นโยบายอะไรบ้างที่เป็นการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะถูกสานต่อหรือไม่
โดยตามไทม์ไลน์เดิมของโครงการนี้ เริ่มต้นเดินหน้าตั้งแต่ 1 ส.ค. 2567 ประกอบด้วย
1 ส.ค. - 15 ก.ย. 2567 ลงทะเบียนกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน ผ่านแอปทางรัฐ
16 ก.ย. - 15 ต.ค. 2567 ลงทะเบียนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
22 ก.ย. ประกาศผลลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐ
25 ก.ย. กระทรวงพาณิชย์เตรียมแถลงถึงรูปแบบคุณสมบัติของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงประเภทของสินค้าที่สามารถใช้ซื้อได้
1 ต.ค. เปิดลงทะเบียนในฝั่งร้านค้า
โดยระยะทางของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว จากการเปิดให้ลงทะเบียนในกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟนเป็นกลุ่มแรก ดังนั้นการรอคอยความชัดเจนของประชาชนหลังโครงการสะดุดลงกลางทาง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากต่อรัฐบาลชุดใหม่นี้ เพราะโครงการนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งการที่พรรคยังเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐบาลแพทองธาร” แน่นอนว่าประชาชน โดยเฉพาะฐานเสียงของพรรคต่างคาดหวังว่าจะยังคงสานต่อการแจกเงินดังกล่าว หรือไม่ก็ต้องหาทางออกอย่างสมน้ำสมเนื้อ โดยช่วงไม่กี่วันมานี้ได้เกิดกระแสข่าว อ้างว่ารัฐบาลแพทองธารมีการทบทวนที่จะยกเลิกโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังมีการหารือกับผู้ใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ชินวัตร มาระยะหนึ่งแล้ว
ซึ่งทางนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรมช.คลัง เปิดเผยถึงกระแสข่าวยกเลิกโครงการดังกล่าวว่า เป็นกระแสข่าวที่ไม่สามารถยืนยันแหล่งข่าวได้ ทั้งนี้ นโยบายใดบ้างที่จะถูกบรรจุอยู่ในแนวนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ต้องรอความชัดเจนในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังแต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้ว
ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มีความเห็นว่า ทางเลือกของโครงการเงินดิจิทัล จะเป็นการตัดสินใจที่ท้าทายที่สุดของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะมีความเสี่ยงด้านกรอบวินัยทางการเงินการคลัง เนื่องจากงบในการดำเนินโครงการที่ต้องใช้จำนวน 450,000 ล้านบาท (โดยมีที่มาจากทั้งงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 และงบประมาณปี 2568) จะไปเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 62 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65 (ซึ่งเพดานหนี้สาธารณะในระดับปลอดภัยควรอยู่ที่ 60) และส่อแววดันงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 5% สูงสุดใน 22 ปี นอกจากนี้อาจยังส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย สอดคล้องกับคดีทางการเมืองที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย เช่นคดีของนายเศรษฐา เป็นการใช้ข้อกฎหมาย ทำให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นหากในตัวโครงการที่อาจจะมีความเสี่ยงหรือช่องโหว่ต่อเรื่องของการผิดกฎหมาย ทางพรรคก็มีโอกาสทบทวนอีกครั้งเพื่อหาทางลงที่ปลอดภัยที่สุด
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็นับว่าเป็นการปิดความเสี่ยงต่อการหลุดจากเก้าอี้ แต่หากยังเดินหน้าโครงการต่อ รัฐบาลชุดใหม่นี้ ก็ต้องหาเงินมาชดเชย เพื่อรักษาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พ้นจากวิกฤตที่มีโอกาสเกิดขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างมากว่า รัฐบาลแพทองธารจะหาทางออกไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ และรักษาความสัมพันธ์กับฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างไร ก็คงต้องรอความชัดเจนที่แน่นอน หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่คาดว่าจะได้คำตอบเดือน ก.ย.นี้
ข่าวเด่น