Scoop : GDP ไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตสดใส


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานสภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 มีการขยายตัว 2.3% ขยับขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาสแรกของปีเดียวกัน และเป็นการปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดการณ์ GDP ของปีนี้อยู่ที่ 2.5% โดยภาคท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น  
 
สภาพัฒน์ระบุเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ที่มีการขยายตัว 2.3 % เป็นการขยายตัวขึ้นจากไตรมาสแรก 0.8% ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะภาคบริการขยายตัว 19.8% ภาคการบริโภคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องที่ 4% (แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อน) ภาคการบริโภครัฐบาลขยายตัวที่ 0.3 % ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี และภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ 1.9 % โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง แต่การลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนมีการหดตัวลง -6.2%  
 
ทั้งนี้สภาพัฒน์ฯ คาดว่า GDP ในปี 2567 นี้ จะขยายที่ 2.5% จากกรอบคาดการณ์เติบโตในช่วง 2.3 - 2.8% โดยได้รับอานิสงส์หลักจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับทางศูนย์วิจัยกรุงศรี ที่วิเคราะห์ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกหลัก ดันเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ผนวกกับแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น
 
นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการ ยังสะท้อนออกมาจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่มีการออกมาตรการแก้หนี้ เพื่อลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs เช่นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และจากการสนับสนุนของทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ที่มีแผนออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น โรงแรมที่ได้ Green Certificates การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีการรีไซเคิลขยะ หรือใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นรีไซเคิล รวมถึงการสนับสนุนภาคการขนส่งนักท่องเที่ยว ที่ใช้รถ EV หรือพลังงานสะอาด เป็นต้น โดยคาดว่าวงเงินที่ปล่อยกู้จากทั้ง Green Bond และ Blue Bond ของธนาคาร รวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้า และไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจจากมุมมองของทางสภาพัฒน์ฯ เนื่องจากนักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ทางการเมืองและทิศทางนโยบายในการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องของกระบวนการงบประมาณ เพื่อทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
 
โดยในส่วนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่  หากไม่ดำเนินการโครงการนี้ต่อ ก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามารองรับแทน เพื่อรักษาบรรยากาศการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย
 
ทั้งนี้ ด้านศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมิน ในกรณีฐานภายใต้การจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ได้เร็วซึ่งเป็นฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและมีเสียงข้างมากราว 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฏร จะทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ และการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 (วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท) อาจไม่เกิดความล่าช้า ทำให้คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้อาจมีจำกัด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ส.ค. 2567 เวลา : 18:11:53
กลับหน้าข่าวเด่น
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:52 pm