Special Report : เงินบาทแข็งค่า หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ กระทบส่งออก - ท่องเที่ยวไทย


 

สกุลเงินบาทในปัจจุบัน กำลังเข้าสู่ช่วงแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในวัฏจักรขาลง โดยล่าสุด (เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2567) เงินบาทมีการแข็งค่าหลุดระดับ 33 บาท ลงมาทดสอบที่ระดับราคา 32.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าค่าเงินบาทกำลังแข็งค่าอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 26 ปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 
โดยต้นเหตุของค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วนั้น มาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือ Fed ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงกว่า 0.50% ในการประชุมของวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ระหว่าง 4.75% - 5.00% ซึ่งนับเป็นการลดลงมามากกว่าที่คาดเอาไว้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีการอ่อนค่าลง จากฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกในตลาดพันธบัตรสหรัฐ(บอนด์) และกระจายไหลเข้าสู่ตลาด Emerging Markets รวมถึงประเทศไทยด้วย ด้วยกลไกของการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดโลก ทำให้ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นโดยปริยาย นอกจากนี้แล้วยังมีสัญญาณจาก Dot Plot หรือประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่สะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ก่อนสิ้นปีนี้ และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งปัจจัยของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงนี้ จะยิ่งซัพพอร์ตเงินบาทให้แข็งค่าไปจนถึงปี 2568 โดยในระยะใกล้นี้ ด้านนักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่า อาจเห็นค่าเงินบาทแข็งแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในการลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปจากการประชุมของ Fed 2 ครั้งที่เหลือในสิ้นปีนี้

ส่วนด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะมีการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในการประชุมนักวิเคราะห์ปลายเดือนต.ค. ที่จะถึงนี้ว่าจะลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หากอ้างอิงผลประชุมล่าสุดของธปท. สามารถมองได้ว่า ทางธปท. อาจยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แม้ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญเข้ากับวิกฤตหนี้ก็ตาม แต่คาดว่าจะมีการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือที่เจาะจง เช่น มาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (RL) หรือการสนับสนุนให้มีการรวมหนี้ ไม่ใช่การลดอัตราดอกเบี้ยลง

ตรงนี้เองทำให้ค่าเงินบาทยังคงไม่มีปัจจัยที่กดให้มีการอ่อนค่าลง นับเป็นผลกระทบจากค่าเงินที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ไม่เติบโตได้เท่าที่ควรจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ สอดคล้องกับทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเดียวกัน สร้างผลกระทบต่อการส่งออก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปแล้วอยู่ในขั้นตอนการเรียกชำระค่าสินค้า เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้ว ผู้ส่งออกจะได้รับเงินลดลง เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แทนที่จะมีกำไรก็อาจน้อยลงหรือไม่ได้กำไรในการค้าขาย และ 2.กลุ่มที่อยู่ระหว่างการเจรจาขายสินค้า ต้องปรับราคาขายใหม่ เมื่อมีการปรับราคาขึ้น Demand ก็จะลดลง ทำให้การส่งออกสินค้าไทยมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศที่ปรับลดลง เนื่องจากสินค้าไทยมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น สามารถซื้อจากที่อื่นทดแทนได้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ได้ชี้เน้นถึงความกังวลของความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น ที่จะได้สัดส่วนของเงินกลับเข้ามาน้อยลง เนื่องจากต้นทุนแปรผันตามค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้น

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงส่งหลักของเศรษฐกิจไทยนั้น ทาง SCB EIC มีประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 ที่ 39.4 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก และจะไม่มากไปกว่านี้ เนื่องจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวที่สูงยังไม่เข้ามาตามเป้า จากเศรษฐกิจของทางจีนที่ยังมีความเปราะบางอยู่ ทำให้การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่จำกัดจากปัจจัยนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอยู่แล้ว ยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องอีก จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพราะส่งผลทางด้านจิตวิทยากับนักท่องเที่ยว ที่แลกเงินได้น้อยกว่าเดิม ต้องจ่ายสูงขึ้นเพื่อมาเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็อาจเกิดการใช้จ่ายที่น้อยลง หรือเปลี่ยนใจไปเที่ยวที่ประเทศอื่นแทนได้ ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาก ทำให้มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเยือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 35 ล้านคนภายในปีนี้

จากสภาพปัญหาหนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติของไทย การท่องเที่ยวและการส่งออกนับว่ามีความสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจไทยที่ต้องพยายามในการรักษาไว้ให้ได้ ซึ่งคงต้องรอดูนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลัง ที่จะเข้ามาช่วยเหลือห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปีนี้ ที่หากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสสูงมากที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าต่อ จากการเน้นนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนชนชั้นกลางเป็นหลัก เช่น ให้เงินสนับสนุนบ้านหลังแรก และการลดหย่อนภาษี ในขณะที่หากพรรครีพับลิกันชนะ ที่เน้นนโยบายส่งเสริมการทำให้ธุรกิจภายในประเทศเติบโต ภายใต้แนวคิด “America First” หรือให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติเป็นหลัก ก็มีโอกาสทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นได้

LastUpdate 22/09/2567 19:35:08 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:40 pm