Scoop : การท่องเที่ยวใน "จังหวัดเมืองรอง" เติบโต ความหวังใหม่กระจายรายได้สู่ภาคท้องถิ่นไทย


ภาคการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตเฉกเช่นทุกวันนี้ โดยในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวเคยทำรายได้เข้าประเทศราว 3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ที่ 3 ของเอเชีย (เป็นรองแค่จีนกับฮ่องกง) และเคยเป็นที่ 1 ในอาเซียน แต่จะเป็นในลักษะของการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี และ ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นการทำเงินเข้าประเทศ แต่สัดส่วนของรายได้นั้นกระจุกตัวอยู่แค่ในพื้นที่หนึ่ง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในจังหวัดเมืองรองยังคงมีความอ่อนแออยู่
 
ทั้งนี้ รายงานข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ของทาง Krungthai Compass ระบุว่า  แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเมืองรองมีสัดส่วนเพียง 34% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักคิดเป็นสัดส่วนกว่า 86.6% (เมืองรองมีรายได้ 13.4%) ก็ตาม แต่หากดูสถิติรายได้พบว่า จะเริ่มเห็นการกระจายตัวของรายได้ออกไปยังจังหวัดเมืองรองมากขึ้น ส่วนกรุงเทพฯ แม้ยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทย แต่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 17% แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 10.8% ทำให้กรุงเทพฯ มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เพียง 77% เท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ภาพรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองรอง มีการฟื้นตัวค่อนข้างดี โดยจังหวัดรองที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี อุดรธานี ลพบุรี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ หนองคาย ตามลำดับ โดยทุกจังหวัดดังกล่าว (ยกเว้นนครศรีธรรมราช) ฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่ระดับ 124%-343% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยการฟื้นตัวของเมืองรอง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งกลับมาสูงกว่าก่อนโควิด-19 อย่างมาก
 
โดยสาเหตุที่คนไทยนิยมท่องเที่ยวเมืองรองเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับเมืองหลัก และด้านรัฐบาลเอง ก็พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด เพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้ ไปสู่พื้นที่ในจังหวัดรองให้มากขึ้น ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี ทั้งในฝั่งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้การท่องเที่ยวในเมืองรองคึกคักขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีคนไทยเที่ยวเมืองรองถึง 56 ล้านคน สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2562 43.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 29.9% โดยจังหวัดรองที่ได้รับความสนใจจากชาวไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และลพบุรี โดยสุพรรณบุรี และสมุทรสงคราม มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัว
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีจังหวัดรองที่เหลือ มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยอยู่ประมาณจังหวัดละ 0.1-1.5 ล้านคน ทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด ยังอยู่ในสัดส่วนที่ 130% เท่านั้น และด้วยหนึ่งในเหตุผลที่เกิดการฟื้นตัวของหลายจังหวัดในพื้นที่เมืองรอง เกิดจากความต้องการเที่ยวหลังอัดอั้นมานานจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่คนไทยยังเผชิญกับปัญหาด้านกำลังซื้อ (ที่แสดงออกทางด้านหนี้ครัวเรือนที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทย) ทำให้ต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายในภาคการบริโภค โดยมีแนวโน้มที่อาจจะตัดการท่องเที่ยวซึ่งมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือเลือกการท่องเที่ยวที่คุ้มค่ามากขึ้นในอนาคต
 
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยยังต้องรับมือกับความท้าทายอย่างจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูงและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของภาคการท่องเที่ยวไทย ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังมีการขยายตัวค่อนข้างต่ำ จากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย อ้างอิงผลสำรวจของ Dragon Trail International ที่ชี้ให้เห็นว่า มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนเพียง 24% เท่านั้น ที่คิดว่าการเดินทางมาประเทศไทยมีความปลอดภัย ขณะที่ 39% ตอบไม่แน่ใจ และมีถึง 38% มองว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย นับเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ด้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น อย่างเห็นได้ชัด
 
ภาครัฐอาจต้องมีการเข้าส่งเสริมนอกเหนือจากมาตรลดหย่อนภาษี ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประเทศไทย ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง ที่ตัวแปรอย่างโครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมที่สะดวก จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยสามารถเปิดใจเดินทางไปยังจังหวัดรองกันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการกระจายรายได้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนและแท้จริง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ต.ค. 2567 เวลา : 18:46:45
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:29 am