จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ไปเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ที่ลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75% - 5.00% ซึ่งนับว่าเป็นการลงเร็วและแรง ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เกิดการขานรับข่าวที่ดีเกินคาด โดย Fun Flow มีการไหลเข้ายังตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่เกิดแรงซื้อจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง แต่มาจนถึงเดือนต.ค. ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นในตลาด ที่บรรดานักลงทุนมองว่า Fed อาจมีการชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะนี้มีความแข็งแกร่งเกินคาด
จริงอยู่ที่ความแข็งแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยในระยะยาว แต่เนื่องจาก Theme ของเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาตลอดหลายปี จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed พยายามแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 23 ปี ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดการซบเซาลง นักลงทุนต่างมีการนำเงินไปพักไว้ในหลุมหลบภัยชั้นดีอย่างพันธบัตรสหรัฐ ที่ให้ผลตอบแทนสูงจากผลของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเม็ดเงินจากทั่วโลกที่ไหลไปอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลักดันให้เกิดการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม ค่าเงินของประเทศอื่น รวมถึงสกุลเงินบาทของไทยมีการอ่อนค่าลง จากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากตลาดทุนไทย
การที่ Fed ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งแรกนี้ พร้อมกับมีการให้สัญญาณว่าจะมีการลดลงต่อเนื่องในปีหน้า เป็นการประกาศอีกทางหนึ่งว่า โลกได้เข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ ก็มีประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed จาก Dot Plot ว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% อีกทั้ง Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วและสูงกว่าธนาคารกลางประเทศอื่น ซึ่งมีอัตราการลดอยู่ถึง 2% เลยทีเดียว ใน 1 ปีข้างหน้า ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากที่นักลงทุนนำเงินทุนออกจากสหรัฐ และมีการเคลื่อนย้ายไปยังตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) รวมถึงตลาดหุ้นไทย ที่มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากที่ Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก จนดัชนี SET Index มีลุ้นแตะ 1,500 จุดเข้าไปทุกที
รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร จาก https://th.investing.com
แต่ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร หรือ Non-Farm Payroll (NFP) ของสหรัฐฯ ที่ตัวเลขการจ้างงานล่าสุดออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาที่ทำให้ Fed อาจไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับที่สูง หรือลดในระดับที่มากเท่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยความกังวลที่ก่อตัวในตลาดเริ่มมีมากขึ้น เมื่อรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ 2.4% YOY สูงกว่าคาดเล็กน้อยที่ 2.3% แม้เป็นระดับที่ยังไม่ถึงขั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็ทำให้นักลงทุนในตลาดปรับการคาดการณ์ถึง 89.5% (ข้อมูลจาก CME Fedwatch) ว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25%(จากก่อนหน้าที่คาดลง 0.5%) ในการประชุมของวันที่ 7 พ.ย.67 ซึ่งเป็นแรงหนุนที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนกลับเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น
นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณของแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยมากขึ้น จากความเชื่อมั่นที่ลดลง เนื่องมาจากความกังวลต่อเหตุการณ์น้ําท่วม และค่าครองชีพที่ยังอยู่สูง อาจทำให้การเคลื่อนไหวของ SET Index ผันผวนง่ายขึ้นในระยะสั้นนี้ ซึ่งคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางรัฐในระยะต่อไป โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่หากเห็นการผลักดันที่ชัดเจน เช่น การจัดทำโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” ที่ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กำลังเสนออยู่ อาจดึง Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มการบิน-โรงแรม เช่น อาทิ AOT AAV CENTEL ERW MINT ซึ่งเป็น Theme หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
ข่าวเด่น