คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ต่อปี (จาก 2.50%) มีผลทันที นับเป็นการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน หลังจากที่ กนง. เคยมีมติดังกล่าวล่าสุดเมื่อปี 2563 เพื่อผ่อนคลายผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ในขณะนั้น ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ ทาง กนง. และกระทรวงการคลัง มีความเห็นชอบว่า จะเป็นการช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ส่วนบุคคลและผู้ประกอบการ SME ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการปรับลดลงของระดับหนี้ครัวเรือน ที่ช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่นนักลงทุน แสดงให้เห็นจาก Volume ที่เพิ่มขึ้นในตลาดหุ้นไทย กับดัชนี SET Index ที่ทะลุ 1,500 จุด รับข่าวดีเกินคาดนี้
เนื่องด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ครั้งนี้ เป็นการช่วยบรรเทาภาระหนี้ของผู้กู้ ที่ทำให้ภาระการผ่อนลดลง เช่น ผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน รถยนต์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนในภาคธุรกิจก็ทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ส่งผลดีโดยตรงต่อการบริโภคในประเทศ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการลดดอกเบี้ยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย (ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น) และเพิ่มการลงทุนมากขึ้น จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่พิจารณาเข้ามาลงทุน เพราะการบริโภคในประเทศไทย ที่ดีขึ้น บ่งบอกว่าจะมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากกว่าเดิม ผู้คนกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย (การเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์จะได้ผลตอบแทนต่ำลง และการซื้อสินค้าผ่อนชำระที่มีดอกเบี้ยถูกลง) นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยดังกล่าว ยังเป็นโอกาสดีในการกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือขยายกิจการ จึงเกิดการแข่งขันและสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ส่งผลดีต่อไปยังภาคการผลิต นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดโลกในปัจจุบัน
เพราะในตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ช่วงของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง โดยตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market: DM) เช่น สหรัฐฯ ยุโรป หรืออังกฤษ จะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปแบบ Soft Landing ในปีหน้า ซึ่งการที่ทั่วโลก นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ลดดอกเบี้ยลง สวนทางกับทาง กนง. ที่ยังคงดอกเบี้ยเอาไว้ จะหนุนให้ค่าเงินบาทมีการแข็งค่ามากขึ้น แม้จะเป็นผลดีต่อการดึงดูด Fund Flow ที่เข้ามา เนื่องจากผลตอบแทนของค่าเงิน แต่ก็กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมีต้นทุนการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น กระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง และยังส่งผลทางลบต่อภาคการส่งออก ฉะนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในอัตรา 0.25% ถือเป็นการสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจไทย ตามหน้าที่ของ กนง. ที่ดูแลการปรับสมดุลในแง่ของเสถียรภาพระบบการเงิน (Financial Stability) ที่ทำการปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ เพื่อสอดคล้องกับรายได้ และภาระหนี้ของประชาชน
ส่วนในประเด็นที่ว่าการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้ ทำให้สินค้าผ่อนชำระมีดอกเบี้ยที่ถูกลง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าราคาสูง ที่ส่งผลให้หนี้ก่อตัวเพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ทาง กนง.มองว่า การก่อหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นไม่เสี่ยงกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ที่ผ่านมา ไม่ได้ปรับขึ้นเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลาง (Neutral rate) ต่างกับประเทศอื่นๆ ที่มีการปรับขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง ซึ่งไม่ได้มีการเติมเชื้อไฟให้รุนแรงก่อนหน้า ฉะนั้นการปรับลดลงในครั้งนี้ถือเป็นระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะชะลอลงในระยะข้างหน้าอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นในการที่จะเอาดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม
ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยลง จึงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้ลง ส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน ที่เพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน จากดอกเบี้ยการกู้ที่ถูกลง หนุนให้ภาคการส่งออกดีขึ้น และยังเป็นการออกนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ ที่มีแรงหนุนไปในทิศทางเดียวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล ผ่านนโยบายต่างๆ อาทิ โครงการ แจกเงิน 10,000 บาท, แผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว เป็นต้น การสร้างสมดุลทางการเงินนี้เอง ทำให้ กนง. มีการปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มขึ้นในปี 2567 นี้ มาอยู่ที่ 2.7% (จาก 2.6%)
สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย
ส่วนภาคการลงทุน เมื่อนโยบายการเงินและการคลัง กลับมาสอดคล้องกัน จึงเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา โดยการลดดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ทั้งในกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มซีพี REITs อสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าจะยังมีแรงซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง และในสัปดาห์ต่อไป (21- 25 ต.ค.) SET Index มีแนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ซึ่งต้องติดตามตัวเลขสำคัญอย่าง ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย.ของไทย ผลประกอบการของบจ.ไทยในไตรมาส 3/2567 และถ้อยแถลงของ Fed ในระยะต่อไป
ข่าวเด่น