Special Report : รู้จัก "ธุรกิจแชร์ลูกโซ่" โมเดลขายฝัน หลอก "เปิดบิล" เล่นกับความหวังคน


จากมหากาพย์ “ดิไอคอน กรุ๊ป” ที่กำลังเป็นที่จับตามองในสังคมไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนขายของบริษัทมากกว่า 1 พันราย เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร้ายแรงไปถึงขั้นที่มีผู้เสียหายบางรายได้ทำการคิดสั้น เพราะหาทางออกจากกรณีโดน “ชักชวนให้เปิดบิล” แต่ขายสินค้าไม่ได้
 
หากพินิจดูถึงตัวของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group Company Limited) จะเห็นว่ามีการจดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นบริษัทประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วยรูปแบบ “ขายตรง” ทางออนไลน์ โดยสินค้าส่วนใหญ่ของดิไอคอน จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม อย่างสินค้าที่วางจำหน่ายตัวแรก Boom Collagen และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่น ๆ  โดยใช้ตราสินค้าเดียวกัน และต่อยอดไปจำหน่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่น ๆ
 
โดยหากเจาะเข้าไปถึงลักษณะการประกอบธุรกิจแบบขายตรงนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือที่มาของรายได้หลักของบริษัท ต้องเกิดจาก “การขายสินค้าและการซื้อซ้ำของผู้บริโภค” ส่วนแนวทางในการทำธุรกิจ คือ การใช้สมาชิกในการขาย ซึ่งต้องมีการอบรมเพื่อให้รู้วิธีการทำการตลาด ความรู้ของคุณภาพสินค้า วิธีการนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค และที่สำคัญคือการรับสมัครสมาชิกตัวแทนขาย ค่าสมัครและการซื้อสินค้าครั้งแรกต้องมีราคาที่เหมาะสม ไม่มีการจูงใจให้ซื้อในปริมาณมาก ไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า รวมถึง “บริษัทต้องรับซื้อสินค้าคืนเมื่อสมาชิกต้องการลาออก” นอกจากนี้ต้องไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 19 ที่ระบุว่า
 
“ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น”
 
ซึ่งหากบริษัทที่ทำธุรกิจขายตรงทำตรงตามจรรยาบรรณ ก็มีโอกาสเติบโตและได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะผู้บริโภคจะมีการซื้อสินค้าซ้ำจากความพอใจในคุณภาพสินค้า ส่วนตัวแทนขายก็จะมีอิสระในการขาย ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลัก และสามารถยกเลิกการเป็นสมาชิกได้โดยการขายสินค้าคืนไปยังบริษัท
 
แต่ในกรณีของดิไอคอน กรุ๊ป นั้น ไม่ได้เข้าข่ายเน้นการขายสินค้า แต่ขายความน่าเชื่อถือของพรีเซ็นเตอร์ สังเกตได้จากโปสเตอร์ที่เน้นรูปของดาราพรีเซ็นเตอร์เป็นหลักก่อนหน้านี้ที่กระจายตามสถานที่หลักๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการจูงใจ ที่ชักชวนประชาชนให้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก หรือตัวแทนจำหน่ายด้วยการ “เปิดบิล” ซึ่งจากข้อมูลของผู้เสียหายระบุว่า การเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย มีที่มาเริ่มจากเห็นโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่สอนขายของออนไลน์ ในราคาไม่ถึง 100 บาท โดยในคอร์สมีการสอนถ่ายภาพตัดคลิปเบื้องต้น แต่ไฮไลท์สำคัญคือการชักชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิกของดิไอคอน กรุ๊ป ด้วยการมี “แม่ทีม” ไปจนถึง “บอสใหญ่” เล่าถึงชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นรูปแบบสตอรี่ปลุกใจในการสร้างรายได้และการเป็นนายตัวเอง ซึ่งเป็นทริคของการหยอดเมล็ดแห่งความหวังให้ผู้ฟังคล้อยตาม และนำไปสู่ “วิธีการหารายได้หลักของบริษัท” คือการให้ “เปิดบิล” เป็นสมาชิก โดยจะมีระดับชนชั้นในองค์กรเป็นแบบพิรามิด แบ่งเป็น
 
1.เปิดบิล 2,500 บาท จะได้เป็น Distributor หรือร้านค้าปลีก มีหน้าที่แนะนำให้คนมาซื้อสินค้าผ่านตนเอง
 
2.เปิดบิล 25,000 บาท จะได้ขึ้นมาเป็น Supervisor หรือแม่ทีม ที่เน้นหาคนมาร่วมทีมเป็นเครือข่าย โดยใช้วิธีการจัดอบรม และจะได้ส่วนแบ่งเป็นค่าหัวจากการหาสมาชิกใหม่เข้ามาได้
 
3.เปิดบิล 50,000 บาท จะได้เป็น Mini Dealer หรือตัวแทนจำหน่าย (เล็ก)
 
4.เปิดบิล 250,000 บาท ระดับสูงสุดเป็น Dealer หรือตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ ที่จะมีพร้อมทั้งลูกทีม และรูปแบบการโฆษณาจากบริษัทเพื่อโปรโมตสินค้า แต่ต้องมีหน้าที่เสียเงินค่าโฆษณาเดือนละ 5,000-10,000 บาท เพื่อหาสมาชิกให้ได้เดือนละ 30 คน 
 
นอกจากนี้ สินค้าที่ขายผ่านระบบตัวแทน จะมีราคาสูงกว่าทุนราว 5 เท่า เพื่อนำส่วนต่างไปจ่ายให้ตัวแทน แม่ทีม และระบบของทางบริษัท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สินค้าของบริษัทนั้นขายไม่ได้ และกลายเป็นทุนจมของผู้เสียหายดังกล่าว ผลตอบแทนหลักของธุรกิจจึงต้องมาจากช่องทางของการเน้นชักชวนคนมาเป็นเครือข่าย มากกว่าเน้นการขายสินค้า เป็นลักษณะของการชวนให้ร่วมเข้ามาระดมทุน ที่ประโยชน์จะตกอยู่กับคนในองค์กรที่อยู่ชนชั้นบนไปจนถึงเหล่าบอสทั้ง 18 คนที่กำลังเป็นข่าวอยู่ตอนนี้
 
และสิ่งสำคัญที่สามารถสังเกตได้ว่าบริษัทเข้าข่ายการทำธุรกิจลูกโซ่ คือ “การขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง” โดยหากสังเกตจากงบการเงินของบริษัท ตรงอัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ ในช่วงปี 2564 ทางดิไอคอน กรุ๊ป มีการ Re-stock หรือผลิตสินค้าเพิ่มกว่า 469 รอบ หรือเฉลี่ยใน 1 วันนั้น มีการ Re-stock สินค้ามากกว่า 1 รอบ ซึ่งในทางธุรกิจแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ตัวเลขดังกล่าวมันออกมาเป็นแบบนี้ ต้องเข้าใจอัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือก่อนว่า มันเกิดจากการเอา “ยอดขาย” หารกับ “สินค้าที่เหลือ” แปลให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ดิไอคอน กรุ๊ป มียอดขายเยอะมาก แต่ Stock สินค้าน้อยมาก นำไปสู่ความจริงต่อมาที่ว่า บริษัทไม่ได้มีการส่งสินค้าออกไปจริงๆ
 
เพราะลักษณะที่บริษัทใช้ระบบ Dropshiping หรือการเป็นตัวแทนจำหน่ายเปิดบิลขึ้นมา แต่ตัวแทนไม่ต้องเอาสินค้าไป Stock เอง เพราะหากมีลูกค้ามาซื้อ ทางบริษัทจะส่งสินค้าให้เอง ซึ่งเท่ากับว่าตัวแทนหลายคนไม่ได้มีสินค้าอยู่กับตัวเอง แต่ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้ เป็นเพราะการชักชวนให้มีตัวแทนจำหน่ายหน้าใหม่ๆ เข้ามา “เปิดบิล” ซึ่งข้อสรุปนี้เป็นที่ชี้ชัดแล้วว่า รายได้แทบทั้งหมดของบริษัท เกิดจากการระดมทุนด้วยวิธีการดึงให้คนเข้ามาเป็นเครือข่ายเรื่อยๆ โดยเอา“สินค้าลม”มาบังหน้าเท่านั้น
 
จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นลักษณะการทำธุรกิจที่เข้าข่าย “ธุรกิจแชร์ลูกโซ่” ซึ่งไกลกว่าคำจำกัดความของการขายตรงไปมาก แม้ตอนนี้ ทางเหล่าบอสทั้ง 18 คนของดิไอคอน กรุ๊ป จะถูกดำเนินคดีเพียง 2 ข้อหา ได้แก่ คดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหา “ความผิดตามกฎหมายแชร์ลูกโซ่” ซึ่งคงต้องรอเวลาดำเนินการ เนื่องจากกฎหมายข้อนี้มีความซับซ้อน ที่เจ้าหน้าที่ต้องทำการรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นหนาก่อนทำการสั่งฟ้อง

LastUpdate 20/10/2567 20:20:47 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 1:05 pm