คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นไปตามความคาดหมายของตลาด หลังจากที่ Fed ได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ระดับ 0.50% ไปเมื่อช่วงเดือน ก.ย.พร้อมส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกรวม 0.50% ภายในการประชุมเดือน พ.ย. และ ธ.ค.
โดยสำหรับการประชุม FOMC ประจำเดือน พ.ย. ที่ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปแล้วนั้น ก็ทำให้ตลาดได้คลายความกังวลจากสถานการณ์ทางการเมือง หลังจาก “โดนัล ทรัมป์” ได้ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันเป็นที่เรียบร้อย เพราะด้วยตัวนโยบายของทรัมป์ต่อจากนี้ มีใจความสำคัญหลักที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยวิถีแบบ “Neo-isolationism” มุ่งเน้นประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะกดดันให้เงินเฟ้อสหรัฐฯกลับมาพุ่งสูง อันเป็นการสร้างผลกระทบต่อนโยบายการเงินของ Fed ที่ส่งผลเสียต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอีกครั้ง
เพราะเนื่องจาก Fed มีเป้าหมายหลักที่จะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 2% จึงได้ออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 23 ปี ส่งผล กระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกที่ซบเซาลงและภาระหนี้ของผู้กู้ที่ต้องแบกรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งมาจนถึงตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีพัฒนาการที่มุ่งหน้าไปสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ขยายตัวอย่างมั่นคงตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ Fed ได้มีการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมกับมีการให้สัญญาณว่าจะมีการลดลงต่อเนื่องในปีหน้า ที่รวมแล้วจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสิ้นถึง 2% เลยทีเดียว ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนขานรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงดังกล่าว ธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ เริ่มมีการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ ภาคการบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีความคึกคักมากขึ้น จากเงินทุนที่ไหลกลับเข้ามายังประเทศของตน โดยเฉพาะตลาดประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market: EM ซึ่งสังเกตได้จากค่าเงินที่มีการแข็งค่ามากขึ้น ผกผันกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงไป
แต่เนื่องจากการกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของทรัมป์นั้น มีความเสี่ยงที่นโยบายทางการเมืองต่อจากนี้จะขัดขวางเป้าหมายของ Fed เพราะด้วยนโยบาย American First ที่เร่งให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากที่สุด หรือมุ่งเน้นให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าโดยเร็ว ทั้งการส่งเสริมให้ธุรกิจภายในประเทศเติบโต มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) รวมถึงไฮไลท์สำคัญอย่างการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในอัตรา 10% - 20% ส่วนจีน จะเป็นการทำ Trade War ที่เก็บภาษีสูงถึง 60% เลยทีเดียว ซึ่งแม้ดูแล้วจะเป็นการมุ่งเน้นประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก ที่ในระยะแรก เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถูก Boost Up ขึ้นมา จากเม็ดเงินที่ไหลเวียนเข้าในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างคึกคัก แต่ตามปกติแล้ว สินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนชาวอเมริกาใช้นั้นมีสัดส่วนเป็นสินค้านำเข้าที่สูงมาก ซึ่ง 90% ของสินค้าที่ใช้มาจากซัพพลายเออร์รายใหญ่ของจีนทั้งหมด การขึ้นภาษีนำเข้าเท่ากับว่าต้นทุนภาษีจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคชาวอเมริกาที่ต้องแบกรับสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ครั้นจะหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ (จากที่ทรัมป์ได้เข้ามาสนับสนุนธุรกิจในประเทศตัวเอง) ก็ยังนับว่ามีต้นทุนที่สูงกว่าสินค้าที่เคยนำเข้ามาจากซัพพลายเออร์รายใหญ่ ทำให้อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพในสหรัฐฯจะมีทิศทางที่สูงขึ้น สอดคล้องกับทาง JPMorgan ธนาคารระดับโลก ที่วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าบวกกับการลดภาษีเงินได้ CIT ตามนโยบายของทรัมป์ อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่ากรณีที่ไม่มีภาษีดังกล่าวประมาณ 2.5%
ส่วนสหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติ (NRF) ก็ได้วิเคราะห์ว่า หากทรัมป์ไฟเขียวนโยบายการตั้งกำแพงภาษีที่สูงลิ่วนี้ จะทำให้ครัวเรือนในสหรัฐฯอาจสูญเสียอำนาจการใช้จ่าย (Spending Power) มากถึง 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ในระยะกลาง เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาะวะเงินเฟ้ออีกครั้ง กดดันให้ Fed ไม่สามารถทำการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน สภาพคล่องที่กลับมาจำกัด ฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และผลเสียอื่น ๆ ร้อยเรียงต่อไปอีกมากมาย
ทั้งนี้ในการประชุม FOMC ล่าสุด คณะกรรมการยังระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง สภาพตลาดแรงงานยังคงดูดี แต่อย่างไรก็ตาม Fed ยังมุ่งมั่นที่จะนำอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% หากเกิดความเสี่ยงที่อาจขัดขวางการบรรลุเป้าหมายก็อาจทำให้ทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed มีการปรับเปลี่ยน และที่น่าสังเกตคือ ในแถลงการณ์ของ FOMC ครั้งนี้ คณะกรรมการไม่แสดงความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนเหมือนกับการประชุมครั้งที่แล้ว รวมถึงทาง “เจอโรม พาวเวลล์” ประธาน Fed ที่กล่าวในงานแถลงข่าวว่า มติการประชุมครั้งนี้ Fed ไม่ได้กำหนดทิศทางเรื่องดอกเบี้ยจากผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และในช่วงระยะสั้น การเลือกตั้งจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของ Fed
โดยหากรวมเข้ากับการคาดการณ์ของตลาดปัจจุบันว่า ในระยะสั้นนี้ การประชุมของ FOMC ครั้งต่อไปในเดือน ธ.ค. จะยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ก่อนที่ Fed จะหยุดลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงปีหน้า ก็สอดรับเข้ากับความเสี่ยงในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็คงต้องติดตามรอดูกันต่อว่า ก้าวต่อไปต่อจากนี้ของทรัมป์ จะมีการออกนโยบายอย่างเป็นทางการอย่างไรต่อไปบ้าง
ข่าวเด่น