การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยที่สอง ของ“โดนัล ทรัมป์” นี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังปูทางไปสู่ยุค “ทรัมป์ 2.0” ด้วยแรงขับเคลื่อนหลักผ่านนโยบายภายในประเทศ นโยบายต่างประเทศ รวมถึงการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้ามาทำงานในรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ ภายใต้แนวคิดร่วมอย่าง America First หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน”
ด้วยจุดยืนของทรัมป์ ที่มีความชัดเจนมาตั้งแต่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยแรกว่าต้องการให้ความสำคัญกับประเทศสหรัฐเป็นหลัก หรือในสโลแกนที่ว่า “Make America Great Again” ซึ่งการก้าวกลับขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐอีกครั้งหลังเอาชนะ กมลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงจากทางพรรคเดโมแครตได้อย่างเต็มภาคภูมิ ที่ทางพรรครีพับลิกันของทรัมป์สามารถทำสิ่งที่เรียกว่า Red Sweep หรือ การครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลของทรัมป์ในยุค 2.0 นี้ มีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเต็มมือมากขึ้น โดยยังคงแนวคิดหลักที่ต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาเป็นอันดับ 1 โดยหากพิจารณาจากนโยบายที่ทรัมป์ได้เคยหาเสียงตอนช่วงเลือกตั้งเอาไว้ จะสังเกตได้ว่า ทรัมป์มีแนวโน้มกลับมาดำเนินนโยบายปกป้องเศรษฐกิจภายใน (Protectionism) และนโยบายอื่น ๆ ที่เอื้อต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยไม่สนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะการเตรียมตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับทางจีนที่สูงถึง 60% และประเทศอื่น 10% ไม่เว้นแม้แต่ชาติที่เป็นพันธมิตร เพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศของตัวเอง
โดยประเทศที่สามารถคานอำนาจของสหรัฐฯ ได้อย่างจีนนั้น ทางทรัมป์เองที่มุ่งให้เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศกลับมายิ่งใหญ่ให้สมกับเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ก็ยิ่งมีแนวโน้มในการสกัดอำนาจกับทางการจีน โดยมีการเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% เพื่อลดสัดส่วนไม่ให้สินค้าทะลักเข้ามายังประเทศ (จากปกติที่ประชาชนชาวอเมริกามีสัดส่วนการบริโภคสินค้าอุปโภคจากทางจีนถึง 90%) และหันมาส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจในประเทศตัวเองแทนผ่านการลดหย่อนภาษี และลดกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจแทน ซึ่งการทำเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นความเสี่ยงต่อธนาคารกลางสหรัฐ ในการชะลอลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นความขัดแย้งกับทางจีนที่สุ่มเสี่ยงให้เกิด Trade War หรือสงครามทางการค้าระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าเดิม
เพราะหากพิจารณารายชื่อของคนที่ทรัมป์ตั้งขึ้นมาทำงานในรัฐบาลชุดนี้ ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองกับทางจีนมากขึ้น โดยในฝั่งของการบริหารกิจการระหว่างประเทศ ได้แก่ “มาร์โก รูบิโอ” สว.รัฐฟลอริดา ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และ “ไมค์ วอลท์ซ” สส.รัฐฟลอริดา ว่าที่ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้ง 2 คนนี้มาจากฝั่งของพรรคริพับลิกันสายเหยี่ยว หรือ The Hawk (เชื่อในการใช้กำลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ประนีประนอม) ที่มีจุดยืนในการต่อต้านจีนอย่างแข็งกร้าว โดยเฉพาะทางรูบิโอ ที่สนับสนุนการปกป้องเสรีภาพของไต้หวัน และยังเคยลงมติคัดค้านการส่งความช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครน อิสราเอล และพันธมิตร เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าสหรัฐกำลังเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์และเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจไปจากปัญหาภัยคุกคามจากทางจีน
โดยการเตรียมสู้รบกับทางจีนอย่างเต็มกำลังนั้น ผลกระทบจะตกไปอยู่ในบริบทของเศรษฐกิจโลก ทั้งห่วงโซ่การผลิตที่มีการแบ่งฝ่ายกันเป็น 2 ขั้ว การเกิดสถานการณ์สงครามความขัดแย้งที่ยังคงสานต่อในแถบตะวันออกกลาง ที่ทรัมป์ยังไม่มีมาตรการเป็นรูปเป็นร่างว่าจะสามารถยุติสงครามความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร รวมถึงปัญหาทางการเมืองระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจผลักดันสภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้นอีกครั้งได้ นอกจากนี้สินค้าของจีนที่โดนตั้งกำแพงทางภาษี ก็อาจมีการทะลักไปยังประเทศอื่น เช่น ประเทศไทย ที่เสี่ยงต่อการขาดดุลทางการค้ากับจีนมากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ได้เกิดการเคลื่อนไหวจากทาง “สี จิ้นผิง”ผู้นำของจีนที่ได้เดินทางมาร่วมประชุมงาน APEC 2024 ในเปรู ด้วยตัวเอง โดยมีการถกประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ผู้นำจีนใช้การประชุมนี้เป็นเวทีกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อหาทางออกก่อนที่ทรัมป์ จะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 2568 นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ยังมีการหารือกับ โจ ไบเดน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจีนต้องการจะรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์กับทางสหรัฐฯ เพื่อตั้งรับการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจที่กำลังจะเกิดขึ้น
ซึ่งก็คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไปว่าความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐฯ และ จีน จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่จากสัญญาณความขัดแย้งที่โลกกำลังแบ่งขั้วอำนาจออกเป็น 2 ฝั่งนี้ การวางตัวเป็น กลางทางการค้าและการลงทุนกับ 2 ฝ่าย และการพิจารณาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ในประเทศที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งรูปแบบของการค้าระหว่างประเทศและการขยายการลงทุนก็นับได้ว่าเป็นทางเลือกที่สามารถรับมือกับความเสี่ยงเบื้องต้นได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ รวมถึงในระยะสั้นนี้ ทาง Krungthai CIO วิเคราะห์ว่า การ พิจาณาลงทุนในหุ้นที่ได้อานิสงส์ทางบวกจากนโยบายของทรัมป์ เช่น หุ้นขนาดเล็กที่มีรายได้จากในสหรัฐเป็นหลัก หุ้นการเงินจากแนวโน้มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจ และหุ้นพลังงาน ที่ทรัมป์หันมาสนับสนุนพลังงานฟอสซิล ก็เป็นกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงเวลานี้
ข่าวเด่น