เทรนด์ความสวยความงามแบบไทยในตอนนี้ กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งไวรัลอย่างการแต่งหน้าแบบ Thai Makeup ที่กำลังเป็นที่นิยม หรือการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิง T-POP เป็น Soft Power ที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ ยึดโยงกับสินค้าผลิตภัณฑ์ความงามโดยเฉพาะเครื่องสำอางสัญชาติไทย ที่มีทิศทางการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างมีนัยสำคัญ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% โดยมีภาคการส่งออกไทยเป็นแรงผลักดัน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3% เช่นเดียวกัน แม้ว่าช่วงปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะต้องแบกรับความเสี่ยงของการเกิดสงครามการค้า หรือ Trade War 2.0 จากนโยบายการค้าของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เตรียมจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีแววว่าจะเป็น Threats ต่อสหรัฐ เช่น จีน เม็กซิโก หรือประเทศในกลุ่ม BRICS ในส่วนของประเทศไทย กลับได้อานิสงส์ให้กับสินค้าบางประเภท ที่จะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก โดยหนึ่งในนั้นคือ เครื่องสำอางไทย ที่จัดอยู่ในหมวดสินค้าที่สร้างความสุขหรือประสบการณ์ใหม่ (Mood for Joy) ซึ่งมีทิศทางการส่งออกที่พุ่งสูงขึ้นมากในปีหน้า สอดรับกับการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยจัดอันดับ 10 ธุรกิจที่โดดเด่นในแต่ละปี และพบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม มักอยู่ในอันดับหนึ่งติดต่อกันมาหลายปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยเติบโตเฉลี่ย 10-20% ต่อปีอีกด้วย
ข้อมูลดังกล่าว เป็นตัวชี้ชัดแล้วว่า เครื่องสำอางไทยเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นหน้าเป็นตาให้กับการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก แต่เบื้องหลังของการเติบโตที่ประจวบเหมาะเข้ากับการส่งเสริมจากสภาพแวดล้อมสถานการณ์โลกในปัจจุบัน มีที่มาจาก Soft Power ของวงการบันเทิงไทยในช่วงไม่ถึง 10 ปีมานี้ ซีรีย์และอุตสาหกรรม T-POP ได้เข้าไปครองใจตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก พวกเขามีความชื่นชอบในตัวของศิลปินนักแสดงไทย เปิดใจให้กับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ถูกถ่ายทอดในระดับ Global ดังนั้นสินค้าและบริการที่สร้างประสบการณ์ที่ยึดโยงกับความเป็นไทยจึงมีความต้องการในตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยหากสังเกตดี ๆ รูปแบบการเปิดรับสินค้าเครื่องสำอางไทยดังกล่าว มี Pattern คล้าย ๆ กับ อุตสาหกรรม K-POP ในฝั่งเกาหลีใต้ ที่ได้ใช้ความบันเทิงเป็น Soft Power ในการเผยแพร่วัฒนธรรมและเอาค่านิยมความเป็นเกาหลีไปป้อนให้กับตลาดโลกเช่นกัน เช่น ผิวขาวใสสไตล์เกาหลี แต่งหน้าแบบสาวเกาหลี ทำให้อุตสาหกรรมความงามของประเทศเติบโตอย่างมากมายมหาศาลจนกลายเป็น 1 ใน Beauty Standard ของโลกมาแล้ว
ดังนั้นเอง การกลับมาของ T-POP จึงเป็นแรงสำคัญที่ผลักดันให้สินค้า Made in Thailand กลายเป็นฉลากที่มีมูลค่าติดตัว ทั้งนี้ก็ยังมีสาเหตุสำคัญจากการที่ตลาดความงามในไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตขึ้นในทุกปีจากปัจจัยของการเปิดกว้างในประเทศ ที่ทั้งเพศชาย เพศหญิง และ LGBTQ ในทุก ๆ ช่วงวัย ต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความงาม และการดูแลตัวเองกันมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ความงามในท้องตลาดต่างมีการแข่งขันพัฒนานวัตกรรมสินค้ากันอยู่ตลอดเวลา และด้วยความก้าวหน้าของสื่อโซเชียลออนไลน์ โดยเฉพาะ TikTok ที่คนไทยเล่นมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก การเผยแพร่ของเทรนด์ความงาม รวมถึงเครื่องสำอางไทย ก็ยิ่งส่งออกไปสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น เช่น เทรนด์แต่งหน้าแบบ Thai Makeup หรือความโด่งดังของนักแสดงนำหญิงชาวไทยที่กำลังเป็นไวรัลอย่างใหม่ ดาวิกา, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก และ หลิง-ออม ที่ทำให้ค่านิยมความงามแบบไทยโด่งดังมากขึ้น
นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ได้ส่งผลให้เครื่องสำอางไทยก็มีโอกาสทำตลาดในอาเซียนได้ง่ายขึ้น ด้วยการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างร่วมกันพัฒนาให้ไทยกลายเป็น Hub ด้านการผลิตเครื่องสำอางในอาเซียน จากปัจจัยส่งเสริมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในเรื่องผลิต และได้รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ดังระดับโลกอยู่แล้ว นับเป็น Ecosystem ที่กรุยทางให้เครื่องสำอางไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นของสิ่งแวดล้อม เริ่มเป็นมาตรฐานสำคัญต่อการพิจารณาบริโภคสินค้าในตลาดโลก ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบร่วมกับการผลักดัน Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียวของภาครัฐ ก็จะทำให้แบรนด์เครื่องสำอางไทย มี Competitiveness ที่สามารถส่งสินค้าจำหน่ายได้กว้างขวางมากขึ้น
ข่าวเด่น