Scoop : How - to หยุดวงจรหนี้ เริ่มได้เลยก่อนสายเกินแก้


รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้คนไทย 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดมีหนี้อยู่ในระบบ และยังมีสัดส่วนจำนวนหนี้ที่สูง ซ้ำแล้วกว่า 67% ของหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ โดยสะท้อนให้เห็นในภาคหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้จะมีรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ของทั้งปี 2567 มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงมาที่กรอบ 88.5-89.5% (จากเดิมที่ 90.7%) อย่างไรก็ดี อัตราที่เกิน 80% ก็ยังถือเป็นระยะอันตราย และยังคงในระดับที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในระบบอีกด้วย
 
ดังนั้นข้อมูลตรงนี้จึงเป็นตัวสะท้อนชั้นดี ถึงปัญหาการติดอยู่ในวงจรหนี้ของคนไทย ที่ทำให้ทั้งคุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง และอาจยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต “AC News” ฉบับนี้ เลยขอแนะนำ How to การจัดการทางการเงินง่าย ๆ ไม่ให้เกิดการก่อหนี้สะสมโดยไม่ตั้งใจ และสามารถเตรียมความพร้อมตั้งรับกับปัญหาได้อย่างมีสติ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวตามขั้นตอนดังนี้
 
1.วิเคราะห์หนี้ทั้งหมดที่มีอยู่

ก่อนอื่นควรเห็นภาพรวมของภาระหนี้ที่มีอยู่ในมือของเราทั้งหมดก่อน แจกแจง จดรายการหนี้ทุกอย่าง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อ หนี้นอกระบบ ฯลฯ จากนั้นคำนวณอัตราดอกเบี้ย และจัดลำดับหนี้จากดอกเบี้ยสูงสุดไปต่ำสุด เพื่อเป็นการ Monitor ถึงภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเทียบกับรายได้ที่เข้ามา
 
2.จัดทำแผนชำระเงินอย่างมีระบบ

หากในตอนนี้เรามีภาระหนี้ที่ล้นมือ อาจพิจารณาใช้วิธีชำระหนี้ขั้นต่ำในทุกบัญชี และนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยที่สูงที่สุดก่อน นอกจากนี้อาจทำการรีไฟแนนซ์หนี้ ที่หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนำมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน และเข้าร่วมโครงการของภาครัฐที่ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่าง ๆ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และยืดระยะเวลาชำระด้วยจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิม เช่น โครงการล่าสุดอย่าง “คุณสู้ เราช่วย” ที่ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เรามี Flow การเงินในการจัดการใช้จ่ายอย่างคล่องตัวและจัดการหนี้ที่เหลือได้ดีขึ้น
 
3.ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้

สิ่งที่จะทำให้เรามีรายรับมากกว่ารายจ่ายอย่างรวดเร็วที่สุด คือ การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกก่อน อาจพิจารณาถึงไลฟ์ไตล์ตนเองในแต่ละวันว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่สามารถหักลดได้ เพื่อตัดวงจรความฟุ่มเฟือยออกไป เช่น การไปปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน การกินข้าวร้านอาหาร หรือกินขนมจุกจิกทุกวัน เปลี่ยนไปเป็นทำอาหารกินเอง เป็นต้น และที่สำคัญควรทำบัญชีจดรายรับรายจ่ายทุกครั้ง เพื่อให้การใช้จ่ายของเรามีสติรู้ตัวมากขึ้น ต่อมาในส่วนการเพิ่มรายได้ อาจพิจารณาถึงความสามารถ สิ่งที่เราสามารถทำได้ในเวลาว่างที่เหลืออยู่ เพื่อหารายได้เสริม เช่น ทำ OT ทำงานพิเศษ ขายของออนไลน์ ทำคอนเทนต์ สอนพิเศษ ฯลฯ
 
4.สร้างวินัยทางการเงินและสร้างนิสัยการออม

นอกจากการจดรายรับรายจ่ายเพื่อดูกระแสเงินของตัวเองแล้ว ก็ควรตั้งงบประมาณเอาไว้เพื่อควบคุมการใช้จ่ายและหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่เป็นการใช้จ่ายเกินตัวอย่างไม่จำเป็น  โดยแนะนำว่าควรแบ่งหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายออกมาเป็นส่วน ๆ เพื่อกำหนดงบที่จะใช้ในแต่ละอย่าง เช่น สำหรับค่าหนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าอุปโภคบริโภค และควรแบ่งส่วนการออมเอาไว้ด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นคงในอนาคต โดยแบ่งสรรปันส่วนอย่างน้อย 10% ของรายได้ขึ้นไป หรือแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน
 
5.สร้างเงินสำรองฉุกเฉินจากเงินออม

เราไม่มีวันรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น อาจมีเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้เงินอย่างกระทันหัน เช่น อุบัติเหตุต้องเข้าโรงพยาบาล การโดนไล่ออก หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่าง ๆ ที่กระทบต่อเงินในกระเป๋าของเรา ดังนั้นเพื่อประกันความเสี่ยงตรงนี้ไว้ ควรจัดสรรเงินออมบางส่วนมาเป็นทุนสำรองฉุกเฉินเอาไว้ โดยแนะนำว่าพยายามเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน และเก็บอยู่ในที่ ๆ สามารถเบิกออกมาใช้ได้อย่างง่ายที่สุด เช่นเก็บในบัญชีออมทรัพย์ เพื่อดึงออกมาใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน นอกจากนี้ ควรมีบัญชีเงินออมที่ใช้กับการลงทุน เพื่อทำให้เงินงอกเงยเป็นทุนสำหรับแผนชีวิตในอนาคตของแต่ละคน
 
6.การทำประกัน

เช่นเดียวกับการสร้างเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ เราไม่สามารถคาดเดาว่าร่างกายหรือทรัพย์สินที่มีจะเกิดความเสียหาย หรือเผชิญกับความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ การทำประกันชีวิต ประกันภัย หรือประกันที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินเอาไว้ จะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงิน ที่ไม่ต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ทันคาดคิดอย่างการเจ็บปวดเฉียบพลัน หรือเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ
 
7.ใช้บัตรเครดิตอย่างรอบคอบ

บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์หากใช้อย่างรอบคอบ เพราะในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งก่อกำเนิดหนี้อย่างง่ายที่สุดเช่นเดียวกัน ไม่ควรใช้บัตรเครดิตไปกับสิ่งของที่ไม่สามารถชำระยอดเต็มได้ในรอบเดือน หรือไม่มีเงินเพียงพอที่จะสามารถซื้อสิ่งของที่กำลังพิจารณาจะใช้บัตรเครดิตจ่ายไปก่อนได้ ควรใช้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้น และติดตามยอดที่ใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่เสมอ
 
ทั้งหมดนี้เป็น 7 วิธีง่าย ๆ ที่เป็นหนทางนำไปสู่การหลุดวนลูปในวงจรหนี้ ไม่ให้ถลำลึกลงไปสร้างหนี้เพิ่ม และเร่งแก้ไขปัญหาของหนี้ได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม การติดอยู่ในวงจรหนี้แม้เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่หากรู้ตัว เผชิญหน้ายอมรับสภาพความจริงตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เรามีสติ สามารถจัดการได้อย่างมีระบบและหาทางออกได้ในที่สุด

 


LastUpdate 22/12/2567 22:02:00 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 10:42 am