Special Report : ส่งออกไทยปี 68 เตรียมรับมือความท้าทายรอบด้าน คาดเติบโตต่ำ 2-2.5%


 

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา การส่งออกบ้านเราได้รับแรงขับเคลื่อนจากสินค้าเกือบทุกหมวด จากอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ตลาดมีความต้องการสินค้าส่งออก ทำให้ภาพรวมของมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2567 ขยายตัวโตดีกว่าที่คาด 5.4% จากที่เคยหดตัว -0.8% ในปี 2566 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจนมาถึงปี 2568 อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ของทรัมป์ 2.0 ที่ทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศปั่นป่วน และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า ทำให้การส่งออกไทยได้รับแรงกดดันรอบด้าน ที่คาดว่าจะโตต่ำลงเพียง 2-2.5%
 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2567 อยู่ที่ 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 5.4% โดยหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวดีที่สุดที่ 7.5% รองมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 5.9% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัว 4.1% โดยสหรัฐฯ นับว่าเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย (มูลค่ารวม 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดเพิ่มจาก 17% ในปีก่อน) ตามด้วยกลุ่มประเทศ CLMV สหภาพยุโรป และจีน สืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง ที่ส่งผลให้มีการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
 

และยิ่งไปกว่านั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 8.7% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวจากเดือน พ.ย. ที่ 8.2% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ (SCB EIC ประเมินไว้ที่ 7.1%) โดยการขยายตัวขึ้นสูงนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากนับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย. เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ด้วยแนวทางนโยบายของทรัมป์ 2.0 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการค้า ที่ทรัมป์เตรียมตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเพื่อประโยชน์ของธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ความกังวลด้านมาตรการกีดกันการค้าและคู่ค้าดังกล่าว ทำให้เกิดการเร่งส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์  อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร เป็นสินค้ากลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
 
โดย SCB EIC ได้ประเมินว่า กว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าในประเทศตัวเองแทนตามนโยบายที่เขาเคยลั่นวาจาเอาไว้ นอกจากนี้ ประเทศไทย ก็ยังจัดว่าเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับที่ 12 (สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมาตั้งแต่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก) โดยในปี 2556 พบว่า ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ที่ 1,005,418 ล้านล้านบาท
 
ดังนั้นในปี 2568 แม้ช่วงต้นปีการส่งออกจะดูมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่หากทรัมป์ได้เริ่มนโยบายกีดกันการค้า ประเทศไทยที่มีแนวโน้มติดเกณฑ์ประเทศที่เข้าข่าย Unfair Trade กับสหรัฐฯ  (อ้างอิงจากคะแนน Trump Risk Index ที่ไทยติดอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียจาก 38 ประเทศพันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ) ก็คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังคงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP เป็นสำคัญ จากที่ขณะนี้สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกไทยปีนี้จะลดลงต่ำกว่าครึ่งอยู่ในกรอบ 2-2.5%
 
นอกจากนี้ สินค้าไทยจะได้รับความท้าทายต่อจากนโยบายดังกล่าว จากการที่จีนไม่สามารถขายสินค้าให้สหรัฐฯ ได้แล้ว จีนจะเกิดสภาวะการผลิตสินค้าล้นตลาด ที่มีแนวโน้มหันมาทุ่มลงในตลาดอื่น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ม.ค. 2568 เวลา : 19:50:25
กลับหน้าข่าวเด่น
25-02-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 25, 2025, 4:38 pm