
ปี 2568 ถือได้ว่าเป็นปีแห่งความพลิกผันของเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มว่า GDP จะกลับมายืนอยู่ที่ระดับ 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นต่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับเข้ามาใกล้ 40 ล้านคน เทียบเคียงได้กับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ประกอบกับแรงส่งหลักด้านการลงทุนทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐ และการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกก็กำลังเติบโตในทิศทางเป็นบวกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก ธปท. เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจไทยของปี 2568 ว่า ภาพรวมของธุรกิจมีการขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน การขนส่ง และธุรกิจร้านค้า ซึ่งสัมพันธ์กับการคาดการณ์จากกระทรวงการคลัง ที่ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 38.5 - 39.8 ล้านคน (ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน) อีกทั้งจะยังได้แรงหนุนเพิ่มจากกระทรวงพาณิชย์ ที่เตรียมสนับสนุนธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้นโยบายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม เช่น การแสดงดนตรี และเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยได้กว่า 1.83 ล้านล้านบาท
ในส่วนของภาคการลงทุน นับเป็นแรงส่งที่สำคัญอย่างมากในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดย นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ทางด้านยอดการขออนุมัติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในรูปแบบ Foreign Direct Investment (FDI) ก็เพิ่มมากขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 1.14 ล้านล้านบาทไปเมื่อปี 2567 และมีโครงการยื่นขอส่งเสริมกว่า 3,100 โครงการ ที่คาดว่าจะทยอยลงทุนจริงภายใน 1 - 4 ปี หลังการอนุมัติ และในโครงการที่น่าสนใจ อย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Data Center และ Cloud Region จะผลักดันให้เกิดความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
ด้านการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี จากความต่อเนื่องในการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการสำคัญอย่าง โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน เช่น โครงการ EEC โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ยังส่งผลให้การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.3% ต่อปี และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของทางรัฐ เช่น มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 3 จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% ต่อปี
นอกจากนี้ ทางด้านภาคการผลิตและการส่งออกยังขยายตัวได้ดี อ้างอิงจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่มีการประเมินว่า ภาคการส่งออกของไทยปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตที่ระดับ 3% ติดต่อกันเป็นปีที่สอง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสินค้าไทยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมวดสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ไทยยังเป็นผู้นำในการส่งออกอาหารบรรจุภัณฑ์ อาทิ ทูน่ากระป๋อง ไก่แช่แข็ง เนื้อไก่แปรรูป ส่วนน้ำตาลทรายที่ตอนนี้ไทยกำลังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก หมวดสินค้า Lifestyle เช่น เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่ส่งออกไปยังตลาดใหม่อย่างแอฟริกา และยังเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งเคยแย่งชิงส่วนแบ่งสินค้าจากทางจีนในตลาดสหรัฐไปแล้วสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยแรก นอกจากนี้ยังมีการเติบโตของกลุ่มฮาร์ดดิส และไดร์ฟ ตามการเติบโตของธุรกิจ Dara Storage
จากปัจจัยการเติบโตเหล่านี้ ทางกระทรวงการคลัง จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ในปี 2568 เช่นเดียวกับการประเมินของ EXIM BANK ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยก็ต้องเผชิญเข้ากับความท้าทายไปพร้อมกับโอกาสที่ได้มา ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน คุณภาพหนี้ที่แย่ลง ทำให้ผู้มีรายได้ในระดับปานกลาง-น้อย มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าประเภทรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ (ตามรายได้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่มปานกลาง) ยังคงมีการหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงของผลกระทบความไม่แน่นอนจากนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐและจีน อย่างนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ 2.0 ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในไทย การขาดดุลทางการค้ากับจีน ลามไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องมีการติดตามในระยะต่อไป
ข่าวเด่น