.jpg)
สโลแกนอย่าง “Make America Great Again” หรือ ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ได้กลายเป็นจุดหมายหลักของนโยบายทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสโลแกนนี้ คือ นโยบายหาเสียงหลักของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ได้กลับเข้ามาในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยที่สองเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งด้วยวิสัยทัศน์ของเขาที่มีความชัดเจนถึงการทำทุกวิถีทางที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะความภาคภูมิใจในการเป็น Tariff Man หรือการมุ่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศ ก็ทำให้ประเทศไทยที่ติดอันดับ Top 10 เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่อาจโดนผลกระทบจากสงครามการค้าที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นในเร็ว ๆ นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าทรัมป์ ยึดถือมาตรการกีดกันทางการค้ามาตั้งแต่สมัยแรก อีกทั้งนโยบายของ Trump 2.0 ในตอนนี้ ก็ได้ตอกย้ำถึงการดำเนินการที่จะมุ่งขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการประเมินว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะลดการพึ่งพาการเก็บภาษีจาก Internal Revenue Service (IRS) ที่เป็นการเก็บภาษีประชาชนในประเทศ หันมาจัดตั้ง External Revenue Service (ERS) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม และรายได้ทั้งหมดที่มาจากแหล่งต่างประเทศ โดยจะเริ่มเก็บกับธุรกิจการค้าเป็นอันดับแรก
ด้วยแนวคิดของทรัมป์ ที่อ้างว่าการเก็บภาษีนำเข้า จะทำให้สหรัฐฯ มีความมั่นคงและรุ่งเรืองขึ้น และตำหนิการเข้าร่วมสนธิสัญญาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA (North American Free Trade Agreement) ว่าเป็นเหตุให้ภาคการผลิตในประเทศลดต่ำลง เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวทำให้บริษัทย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีแรงงานถูกกว่า นับเป็นการส่งเสริมให้ประเทศอื่นเจริญรุ่งเรืองขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ ต้องประสบกับการจ้างงานที่ต่ำลง และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ถดถอย ประกอบกับจุดยืนของทรัมป์จากนโยบายที่จะส่งเสริมธุรกิจในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่ทรัมป์ให้ความสำคัญมากกว่าภาคบริการ ที่เขามองว่าเป็นงานที่มีความภาคภูมิใจต่ำ และหาเลี้ยงชีพได้ไม่ยั่งยืน ดังนั้นหมุดหมายหลักของทรัมป์จึงเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ณ ตอนนี้ รัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มกำลัง ที่จะขัดขวางสินค้าจากต่างประเทศ และหันมาเป็นผู้ผลิตแทน ซึ่งสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์ทั้งรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้า (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นรายได้หลักของรัฐบาลกว่า 80%) ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภาคการผลิต และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมารุ่งเรือง และรักษาตำแหน่งประเทศมหาอำนาจได้อีกครั้งหนึ่ง
และแน่นอนว่าคู่แข่งหลักของสหรัฐฯ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากจีน ซึ่งความเสียเปรียบทางภาคการผลิตที่ผ่านมา ได้แก่ โซลาร์เซลล์ ที่ครั้งหนึ่งสหรัฐฯเคยเป็นผู้นำในปี 2008 จาก Market Share อันดับ 1 ที่ 43% แต่ปัจจุบันปี 2024 จีนกินส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมนี้กว่า 95.4% ส่วนรถยนต์ ที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่โดนเอาเปรียบจากประเทศอื่น จีนก็เป็นผู้นำการผลิตมามากว่า 17 ปี
อย่างไรก็ตาม จีนก็มีการปรับตัวเช่นกันเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าในครั้งนี้ ด้วยการโยกย้าย Supply Chain หรือสายการผลิตไปยังประเทศอื่น ตรงนี้เองที่กำลังจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศไทย กับธุรกิจที่รับจ้างผลิต โดยเฉพาะจากทางจีน เพราะสหรัฐฯ เองก็มีการป้องกันแนวการหลีกเลี่ยงนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะโฟกัสว่า Made by ใคร มากกว่า - Made in ประเทศอะไรมากกว่า และเมื่อผนวกกับการพยายามที่จะเก็บภาษีจากต่างประเทศ หรือ ERS ทำให้คาดว่าสหรัฐฯจะมีการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าอย่างจีน แคนาดา เม็กซิโก กลุ่มประเทศใน EU รวมถึงประเทศในอาเซียน ที่เกินดุลกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด

และไทยเองก็เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับ 10 ของโลกที่เกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ (จากเดิมอยู่ที่อันดับ 12) เป็นกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อการโดนกีดกันทางการค้าสูงที่สุด โดยหากพิจารณาสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ร่วมกับกลุ่มสินค้าที่ทรัมป์อยากกลับมาเป็นผู้ผลิตเอง จึงเสี่ยงที่สินค้าประเภท Consumer Electronics เช่น แอร์ แล็ปท็อป ส่วนประกอบมือถือ กล้อง รวมถึง Solar Module และชิ้นส่วนรถยนต์ จะถูกกีดกันการนำเข้าอย่างหนักหน่วง ซึ่งกดดันให้ GDP ลดลง 0.5%
ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ากลยุทธ์ในการรับมือ คือ การ “ลดการเกินดุล” ไทยต่อสหรัฐฯ มูลค่าราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ได้ โดยเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรอย่าง ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบินเล็ก ก็มีโอกาสที่จะช่วยลดผลกระทบจากสงครามทางการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
ข่าวเด่น