
ปัจจุบัน ทุนจีนนับว่ามีบทบาทสำคัญในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การตีตลาดสินค้าพื้นฐาน เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ ไปจนถึงด้านซอฟแวร์เทคโนโลยีอย่าง TikTok และซอฟพาวเวอร์ต่าง ๆ ที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ “ความเป็นจีน” ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะด้านอาหารการกิน ที่ทุกวันนี้บรรดาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ได้เข้ามาแข่งขันช่วงชิง Market Share ในตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเหล่าผู้ประกอบการไทย ที่มีข้อเสียเปรียบในด้านเงินทุน
เพราะแฟรนไชส์จากจีนนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไอศกรีมและชาอย่าง Mixue หรือ WEDRINK แบรนด์ชามะนาวอย่าง Taning หรือร้านไก่ทอด Zhengxin Chicken และร้านอาหารต่าง ๆ อีกมากมายที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ต่างมีความได้เปรียบด้านเงินทุนที่หนา ซึ่งมักจะใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ตั้งแต่ท่าไม้ตายที่เน้นขายสินค้าราคาต่ำกว่าท้องตลาด หรือขายสินค้าในราคาใกล้เคียงกันแต่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่สามารถสู้ได้ เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์จีนดังกล่าว มีกำลังการผลิตที่สูงกว่า ปริมาณการผลิตเยอะ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบในสายการผลิตมีราคาที่ต่ำกว่า รวมถึงกลยุทธ์การขยายธุรกิจแฟรนไชส์จีน ที่ใช้เงินลงทุนน้อย จากค่าธรรมเนียมและเงินลงทุนเริ่มต้นที่ไม่สูง อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อให้ทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แตกต่างจากการที่ไทยจะเข้าไปตีตลาดจีนนั้นต้องผ่านกฎระเบียบอย่างแน่นหนา
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยมูลค่ารวมมากกว่า 1 พันล้านบาท โดยจีน เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดด้วยเม็ดเงินลงทุน 416 ล้านบาท สอดคล้องกับในปีเดียวกัน ที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าต่าง ๆ จากจีนมูลค่ากว่า 4.69 แสนล้านบาท มีธุรกิจจีนจดทะเบียนบริษัทในไทยกว่า 131,504 บริษัท คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.94 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 3.25%
ขณะเดียวกันจากข้อมูลของ EY Greater China ระบุว่า ปี 2567 การลงทุนต่างประเทศของจีน มีมูลค่ากว่า 162.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 10% โดยสาเหตุของการเติบโตนี้ มีที่มาจากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน และอัตราการว่างงานของคนจีนรุ่นใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจจีนมีสภาวะชะลอตัว กำลังซื้อของคนในประเทศลดต่ำลง ทำให้ธุรกิจของจีนต้องแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจตนเอง
ความน่ากลัวของทุนจีน ที่เข้ามารุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในไทยนั้น มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ และอาจทำให้โครงสร้างทางราคาสินค้าในไทยเกิดความปั่นป่วน เพราะในอันดับแรก การที่ธุรกิจแฟรนไชส์จีนขายสินค้าราคาที่อยู่ในระดับเทียบเท่ากับท้องตลาดปกติ แต่มาเปิดร้านเป็นรูปแบบโมเดิร์นเทรดที่มีความพรีเมียมทางประสบการณ์การซื้อมากกว่า ทำให้พฤติกรรมการซื้อของผู้คนมีความเปลี่ยนแปลงไป จากที่ซื้อน้ำแก้วละ 20-30 บาทในตลาด ก็หันมาซื้อจากร้านแฟรนไชส์จีนมากกว่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทยมีโอกาสรอดน้อยลง เพราะจุดคุ้มทุนของธุรกิจใช้เวลานานขึ้น และมีกำไรที่ต่ำลง และเมื่อถึงเวลาในท้ายที่สุดที่ผู้ประกอบการไทยล้มหายตายจากไปจากสงครามทางด้านราคา อย่างร้ายแรงที่สุดธุรกิจแฟรนไชส์จีนก็จะสามารถผูกขาดตลาด หรือเรียกได้ว่า “ตีทัพยึดครองตลาดไทย” ได้สำเร็จ และอาจเพิ่มราคาขึ้นทีหลัง ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มพังได้เลย
ฉะนั้น ทางออกของผู้ประกอบการไทย ควรได้รับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐที่อาจต้องพิจารณาการหลั่งไหลเข้ามาของทุนจีน ประกอบกับการออกมาตรการปกป้องธุรกิจไทยให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม ส่วนในภาคผู้ประกอบการเอง อาจต้องใช้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่แข็งแรง เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า รวมถึงวางระบบภายใน เพื่อสร้างมาตรฐานของร้าน และควบคุมต้นทุนให้ได้ดีที่สุด พร้อมคงคุณภาพ รสชาติ และเอกลักษณ์เฉพาะที่แบรนด์จีนเลียนแบบได้ยาก ก็จะยังเป็นโอกาสที่ธุรกิจแบรนด์ไทยจะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น