
จากประกาศการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดไปยังสหรัฐ ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นลำดับต้น ๆ ถึง 37% นั้น แม้ในวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ทาง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐได้ประกาศเปลี่ยนแปลงที่จะชะลอการเก็บภาษีออกไปเป็นระยะเวลา 90 วัน แก่ประเทศที่ไม่ได้ทำการตอบโต้และเข้ามาขอเจรจากับทางสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้นำโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างทรัมป์ ก็มีโอกาสที่การเจรจาต่อรอง หรือการหาความร่วมมือระหว่างกันนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงยังคงมีความเสี่ยงที่สินค้าส่งออกไทยจะโดนลดบทบาทลง ส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่มีความเป็นไปได้ว่าปี 2568 นี้อาจโตต่ำลงกว่า 2%
การเดินหน้านโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นจุดยืนหลักของรัฐบาลสหรัฐที่จะพยายามทำให้สหรัฐปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่อยู่ในสถานะเกินดุลกับสหรัฐ และหันมาส่งเสริมธุรกิจในประเทศและภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศตนเอง จึงไม่แปลกที่การเดินหน้าเรียกเก็บอัตราภาษีศุลกากรแบบตอบโต้เพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าพื้นฐานในอัตราที่สูงลิ่ว จึงสร้างความตื่นตัวให้กับประเทศคู่ค่าอย่างมาก รวมถึงประเทศไทยด้วยเองที่ติดอันดับTop 10 เกินดุลการค้ากับทางสหรัฐ เพราะหากสหรัฐเอาจริง ประเทศไทยที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ซึ่งต้องอาศัยตลาดการบริโภคจากต่างชาติ จะเกิดการเติบโตที่ลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย อ้างอิงจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ที่วิเคราะห์ว่า GDP หรือ เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำเพียง 2% ในปีนี้ ต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับของประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เนื่องจากเราเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กที่มีอำนาจต่อรองน้อย ส่วนทางด้านของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (จากเดิม 2.4%) เนื่องจากการกีดกันทางภาษีของสหรัฐ จะทำให้การค้าโลกและการลงทุนชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า และการที่สหรัฐได้เปิดฉากห่ำหั่นกับจีน ตอบโต้ทางด้านภาษีไปมาอย่างไม่มีใครยอมใคร จะยิ่งส่งผลกระทบกับประเทศขนาดเล็กอย่างไทย ที่สินค้าสัญชาติจีนจะเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น ทดแทนตลาดสหรัฐที่เสียไป ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาคการผลิตของไทยย่ำแย่ลงไปอีก และในที่สุดไทยจะขาดศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้ความต้องการสินค้าของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง
และแน่นอนว่าจากจุดนี้ ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อไปเป็นทอด ๆ สู่ตลาดแรงงาน และการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่หดตัว ซึ่งการที่ไทยมีความเปราะบางจากโควิด-19 ที่ฟื้นตัวยังไม่ทันเต็มที่ และปัญหาของหนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 90% อยู่ก่อนแล้ว จะยิ่งทำให้เงินที่หมุนวนอยู่ในระบบเศรษฐกิจลดต่ำลง แม้จะหันไปพึ่งพาด้านการลงทุนภาคเอกชนจากต่างชาติก็ยังไม่ฟื้นตัวดี (ปีนี้อาจขยายตัวเพียง 0.3%YOY) เนื่องจากนักลงทุนจะพิจารณาจากยอดการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถพึ่งพาจากด้านการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวได้แล้ว รวมถึงต้องรอคอยดูท่าทีรัฐบาลสหรัฐต่ออาเซียนและไทย รวมถึงผลการเจรจาของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ หากจะหาทางออกด้วยการวางสถานะประเทศไทยให้เป็น “พ่อค้าคนกลาง” ที่อาจจะทำตัวเป็นทางผ่านนำสินค้าจากจีนแล้วส่งออกต่อไปยังสหรัฐ หรือแม้แต่การลงทุนพึ่งพาการลงทุนจากธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้าง และการลงทุนในยานพาหนะเชิงพาณิชย์ด้วยทุนสนับสนุนจากทางจีน (ที่เคยมองว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญในปีนี้) รัฐบาลสหรัฐที่กำลังเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนอาจเข้มงวดกับไทยมากขึ้น และจีนเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศอยู่แล้วด้วย จึงไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะใช้ไพ่ใบนี้ในการเอาตัวรอด
ในเบื้องต้นของการแก้ไขปัญหานี้ ทาง SCB EIC ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง เหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย หากทางไทยไม่สามารถเจรจาขอลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าครั้งนี้ได้สำเร็จ ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า การร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับทางสหรัฐ จะหาทางออกเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคได้อย่างไรต่อไปบ้าง
ข่าวเด่น