Scoop : อาเซียนร่วมมือปกป้องเศรษฐกิจ เตรียมเจรจากับสหรัฐ รับมือนโยบายภาษี


อาเซียนร่วมมือหาแนวทางเจรจาการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ย้ำจุดยืนหลักที่จะไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ เพียงแต่จะเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยอาจปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า รวมถึงมาตรการสร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม “สี จิ้นผิง” ก็เตรียมเข้ามาเจรจากับ 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อรับมือกับมาตรการทางภาษีของทรัมป์ ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงที่กดดันให้อาเซียนต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายไหนของสงครามทางการค้าในครั้งนี้
 
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมานี้ ได้เกิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษ ผ่านระบบทางไกล กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อร่วมกันหาทางรับมือกับนโยบายใหม่ภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ โดยจะมีการเจรจาในนามกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับทางสหรัฐ เนื่องจากอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก การรวมตัวกันเข้าไปเจรจากับสหรัฐมีโอกาสที่จะหาทางออกร่วมกันอย่างสันติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการเจรจาเป็นรายประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยรูปแบบการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ในครั้งนี้ 6 ประเทศอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าคาดในอัตรา 32-49% (สูงกว่าเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปที่ 20% และพอ ๆ กันกับจีนที่ 34%) เช่น เวียดนามที่ถูกเรียกเก็บภาษีที่ 49% กัมพูชา 49% หรือไทย 37% ด้วยเหตุผลของการเป็นกลุ่มประเทศที่เกินดุลทางการค้ากับสหรัฐ
 
และด้วยความที่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐ จัดได้ว่าเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากจีน) โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2567 ราว 476,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย สหรัฐก็เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐ อยู่ที่ 74,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปสหรัฐ มูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.3% หรือเรียกได้ว่าการส่งออกไทยต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐ 1 ใน 5 เลยทีเดียว ฉะนั้นการเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงของสหรัฐ จึงสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวดให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน
 
ดังนั้น การเจรจาต่อรองในนามของอาเซียน จึงกลายเป็นทางออกหลักที่จะปกป้องผลประโยชน์เศรษฐกิจในประเทศ โดยในระยะเวลา 90 วันที่ทรัมป์ได้มีการผ่อนผันการใช้มาตรการดังกล่าว ทางคณะทำงาน ASEAN Geoeconomics Task Force ที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นวาระพิเศษ กำลังติดตามนโยบายสหรัฐอย่างใกล้ชิด และกำลังเตรียมการเข้าเจรจา ส่วนในด้านการเจรจาเป็นรายประเทศ ไทยเราก็ได้ติดต่อกับผู้แทนการค้าสหรัฐ โดยคาดว่าจะมีการหารือภายในเดือนเมษายนนี้
 
ทั้งนี้ สงครามทางการค้าทางภาษีอาจจะไม่ได้หาทางออกได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะขั้วตรงข้ามอย่างจีน ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการประนีประนอมใด ๆ กับสหรัฐ ทำให้ทางรัฐบาลสหรัฐมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเป็น 125% ทันที ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ส่งผลกระทบต่อเรื่องการส่งออกสินค้าของประเทศจีนทันที ซึ่งทางจีนเองที่ไม่ยอมเสียผลประโยชน์ง่าย ๆ นอกจากขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐทุกรายการ สูงถึง 84% ในวันเดียวกันแล้ว ทาง สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ก็ได้เตรียมเดินสายสานสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงการเตรียมเยือนประเทศในอาเซียนในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งทั้ง 3 ประเทศได้ประโยชน์จากการที่จีนขยายห่วงโซ่อุปทานเข้ามาตั้งแต่สมัยทรัมป์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยแรก ทำให้ทั้งสามประเทศถูกผู้นำสหรัฐเพ่งเล็งมาโดยตลอด นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ยังมีการเตรียมประชุมกับผู้นำสหภาพยุโรป EU เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลางอีกด้วย Movement ที่น่าจับตามองตรงนี้เองเป็นข้อสังเกตว่า อาเซียนอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันที่จำเป็นต้องเลือกข้างในอนาคตอันใกล้นี้ และการเตรียมเจรจากับทางสหรัฐอาจมีตัวแปรบางอย่างเข้ามาที่ทำให้การหาข้อยุติเป็นไปอย่างเคร่งเครียดมากขึ้น

LastUpdate 13/04/2568 20:33:38 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
21-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 21, 2025, 3:59 am